หน้าแรก Voice TV ​​11 ข้อสังเกตคดี ‘ล้มล้าง’ ก่อนตัดสินนโยบายแก้ 112 พรรคก้าวไกล

​​11 ข้อสังเกตคดี ‘ล้มล้าง’ ก่อนตัดสินนโยบายแก้ 112 พรรคก้าวไกล

955
0
​​11-ข้อสังเกตคดี-‘ล้มล้าง’-ก่อนตัดสินนโยบายแก้-112-พรรคก้าวไกล

ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลเหตุสืบเนื่องนโยบายแก้ไข 112 ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ‘วอยซ์’ สรุปประเด็นสำคัญก่อนศาลมีคำวินิจฉัย

1. เรื่องนี้คิกออฟโดย ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ซึ่งเป็นทนายอิสระ และมีประวัติเป็นคนใกล้ชิด-ทนายให้ (อดีต) พุทธอิสระ โดยหลังเลือกตั้ง ที่ผลคะแนนพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นอันดับ 1 เพียงสัปดาห์เดียว เขาได้ไปร้องต่อ กกต.ให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า นโยบายของพรรคก้าวไกล ผิดมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คือ เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบฯ แต่ไม่มีความคืบหน้าในชั้น กกต. จึงยื่นต่ออัยการสูงสุด และต่อมาจึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

2. คดีนี้ฟ้องตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”

มาตรานี้ ในทางหลักการเป็นไปเพื่อการปกป้องตนเองของรัฐธรรมนูญไม่ให้มีการล้มระบอบ ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2495  ไล่เรื่อยมาทุกฉบับ แต่เรื่อง ‘ช่องทางการฟ้อง’ นั้นกำหนดครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าหากใครพบการกระทำนั้น สามารถร้องต่ออัยการสูงสุดได้ (ไม่ให้ร้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง) ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2560 ‘ฉบับมีชัย’ จึงได้เขียนให้ชัดขึ้นอีกว่า ถ้าอัยการสูงสุดไม่ตอบภายใน 15 วัน สามารถร้องตรงกับศาลรัฐธรรมนูญได้ นั่นทำให้เรื่องราวของนักร้องในคดีใหญ่ๆ สามารถส่งตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างรวดเร็วโดยแทบไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองของอัยการ

3. นโยบายการหาเสียงของทุกพรรคการเมือง ต้องผ่าน กกต. และนโยบายนี้ของพรรคก้าวไกล ก็ได้รับการรับรองจาก กกต.แล้ว

4. นโยบายของพรรคก้าวไกลคือ การแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่การยกเลิก ซึ่งแตกต่างกับคดีชุมนุม 10 สิงหาฯ ที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อโดยเรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 112 และศาลเคยวินิจฉัยมาก่อนหน้านี้

5. การแก้ไขมาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของชุดนโยบายแก้ ‘กฎหมายหมิ่นประมาท’ ทั้งระบบ รวมถึงการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เจ้าพนักงาน หรือกระทั่งศาลด้วย โดยปรับให้โทษส่วนใหญ่เป็นโทษปรับ และลดโทษจำคุกที่ยังคงเหลือลง ดูได้จาก  ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่พรรคก้าวไกลเคยยื่นเข้าสภาเมื่อปี 2564 เรื่องนี้ดูจะสอดคล้องกับหลักสากลอย่างกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

6. หากดูนโยบายในเว็บไซต์พรรคก้าวไกลที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จะพบว่าบรรยายถึงการโทษจำคุกทั้งคดีหมิ่นประมาทสถาบันและบุคคลธรรมดา ดังนี้

(1) ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มีความสอดคล้องกับหลักสากล

  • จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระมหากษัตริย์)
  • จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
  • ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีสิทธิแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษ

(2) โทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจะถูกลดลงจากโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี เหลือแค่โทษปรับเท่านั้น

7.อย่างไรก็ดี คำร้องของธีรยุทธ ไม่ได้ระบุถึงร่างกฎหมายหรือแนวนโยบายทางการเท่านั้น แต่ยังระบุพฤติการณ์ของหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยหยิบยกกรณีนายพิธายืนยันนโยบายยกเลิกมาตรา 112 เช่น การนำสติ๊กเกอร์สีแดงปิดลงในช่อง ‘ยกเลิก ม.112’ บนเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี รวมถึงการตอบข้อซักถามสื่อมวลชนในวันลงนามข้อตกลงร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เมื่อ 22 พ.ค. ว่าการแก้ไขมาตรา 112  “พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะทำอยู่” หลังไม่ปรากฏเรื่องนี้ใน MOU เป็นต้น

8. ในคำร้องและอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากกรณีนี้วินิจฉัยว่า ‘ผิด’ ก็จะสั่งหยุดการกระทำนั้น ซึ่งต้องดูในรายละเอียดคำวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวหมายถึง พฤติการณ์ที่ตีความไปถึงการยกเลิก หรือหมายถึง การเสนอกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหากเป็นอย่างแรก การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายนี้ในอนาคตอาจเป็นไปได้ยากลำบาก หากเป็นอย่างหลังอาจเท่ากับกำหนดมาตรฐานนโยบายของพรรคการเมืองหรือรัฐบาลในอนาคตไปในตัว

9. ในชั้นนี้จะไม่ไปถึงขั้นของการยุบพรรค แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลในอนาคต เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ระบุว่า ให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองได้หากเข้าข่ายหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ “การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

10. ธีรยุทธผู้ยื่นคำร้อง และนักวิเคราะห์สายอนุรักษนิยมพูดไว้ในหลายวาระ โดยหยิบยกเหตุผลในคำวินิจฉัยศาลที่ใช้คำว่า ’เซาะกร่อน บ่อนทำลาย’ สถาบันฯ ที่ปรากฏอยู่ทั้งคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ และคดีชุมนุม 10 สิงหาฯ

นอกจากนี้พวกเขายังชี้ว่า ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น ศาลชี้ว่าแม้ไม่ถึงขั้นล้มล้าง เป็นเพียง ‘อาจเป็นปฏิปักษ์’ ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็เข้าข่ายความผิดแล้ว

11. มาตรา 112 มีพัฒนาการ การแก้ไข หรือข้อเสนอในการแก้ไขหลายครั้ง สรุปได้ดังนี้

  • สมัย ร.4 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
  • สมัย ร.5 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี  สำหรับพระมหากษัตริย์ ส่วนพระราชินี รัชทายาท โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
  • สมัย ร.7 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี
  • 2477 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มีเหตุยกเว้นความผิดหากเป็นการติชมโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ 
  • 2499 (หลังคณะราษฎรสิ้นอำนาจ) โทษจำคุกไม่เกิน  7 ปี ไม่มีเหตุยกเว้นความผิด และย้ายไปอยู่หมวดความมั่นคง 
  • 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ) โทษจำคุกไม่เกิน 3-15 ปี (มาจนปัจจุบัน)
  • 2550  สนช. เสนอญัตติแก้ ม.112 โดยเพิ่ม 112/1 คุ้มครองพระโอรสพระธิดา โทษจำคุก 1-7 ปี และ 112/2 คุ้มครององคมนตรี โทษจำคุก 6 เดือน-5 ปี แต่สุดท้ายถอนออกก่อนพิจารณาโดยแจ้งว่าคณะองคมนตรีไม่ต้องการรับความคุ้มครอง 
  • 2555 ภาคประชาชน โดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวม 30,383 คน ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 112 (เนื้อหาตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์)  แต่ประธานสภาปัดตกพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวดสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนมีสิทธิเสนอ
  • 2555 คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) นำโดย คณิต ณ นคร เผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์​ โดยส่วนหนึ่งของข้อเสนอในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมมีการระบุถึง การแก้ไข ม.112

“การบังคับใช้กฎหมาย..มีการระวางโทษในอัตราที่สูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด จำกัดดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษที่เหมาะสม ไม่มีความชัดเจนในขอบเขตที่เข้าข่ายตามกฎหมาย และยังเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือกำจัดศัตรูในทางการเมือง คอป. จึงหวังเป็น อย่างยิ่งว่ารัฐบาลและรัฐสภาจักร่วมกันแสดงความกล้าหาญในทางการเมือง เพื่อขจัดเงื่อนไขของปัญหาจากกฎหมายดังกล่าวด้วยการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์….” รายงานคอป.ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่