ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน สั่งจำคุก 2 ปี ‘อั๋ว-เพนกวิน’ เหตุชุมนุม Save วันเฉลิม เมื่อปี 2563 รอลงอาญา
5 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ สองนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมในขณะนั้น กรณีเข้าร่วมกิจกรรม #Saveวันเฉลิม บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกบังคับสูญหายไปในเย็นวันก่อนหน้านั้น
สำหรับคดีนี้ทั้งสองคนถูกอัยการฟ้องในข้อหาจัดการชุมนุมและเข้าร่วมการชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่จุฑาทิพย์ยังถูกฟ้องในขัอหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอีกข้อหาหนึ่ง เหตุจากการไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือระหว่างเข้ารับทราบข้อกล่าวหา
ทั้งพริษฐ์และจุฑาทิพย์ได้ต่อสู้คดี โดยรับว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวจริง แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่ได้มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม การชุมนุมยังเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่พบผู้ติดเชื้อหลังกิจกรรม จึงไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้การชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบ ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าหมายในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักด์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกอุ้มหายไปในประเทศกัมพูชา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ส่วนจุฑาทิพย์ ศาลยังพิพากษาว่าผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งตามเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ลงโทษปรับเพิ่ม 2,000 บาท ทั้งสองคนจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา
ที่ห้องพิจารณา 707 เวลา 09.00 น. “พริษฐ์” “จุฑาทิพย์” และทนายความนั่งรออยู่ที่ห้องพิจารณา โดยมี ญาติ ผู้มาให้กำลังใจ และผู้สังเกตการณ์คดีที่มาเข้าร่วมฟังคำพิพากษา โดยก่อนที่ทุกคนจะเข้าห้องพิจารณา ได้ถูกถ่ายเจ้าหน้าที่ศาลถ่ายบัตรประชาชนพร้อมให้เซ็นเอกสารขออนุญาตเข้าฟังการพิจารณาคดี และถามถึงความเกี่ยวข้องในคดีนี้
เวลา 11.30 น. หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาในคดีก่อนหน้าเสร็จสิ้น ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยสรุปศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม แต่จากพยานหลักฐานที่ปรากฏ การที่จำเลยมาถึงสถานที่เกิดเหตุก่อนเวลา แล้วเอาป้ายภาพผู้ลี้ภัยต่าง ๆ ไปวางเพื่อรำลึก แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นกับการชุมนุม
ยิ่งไปกว่านั้นศาลเห็นว่าการชุมนุมของจำเลยยังเป็นการชุมนุมในลักษณะมั่วสุมแออัดเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
ในส่วนข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของจุฑาทิพย์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย จำเลยไม่มีเหตุแก้ตัวอันสมควร ข้ออุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ทั้งนี้ ในการชุมนุมครั้งนี้ สำนวนคดีในส่วนของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ไม่ได้ถูกฟ้องเข้ามาพร้อมกับพริษฐ์และจุฑาทิพย์แต่อย่างใด โดยพนักงานอัยการกลับระบุในคำฟ้องคดีของทั้งสองคนว่า “ปนัสยานั้นหลบหนีและยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง” ทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
สำหรับการจัดกิจกรรมทวงคืนความเป็นธรรมให้วันเฉลิม หรือ #Saveวันเฉลิม เกิดขึ้นตั้งแต่มีข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 โดยมีการแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยใช้โบว์สีขาว เช่น กลุ่มสนท.ผูกโบว์ขาวที่รั้วกรมทหารราบที่ 11 และการจัดกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 การยื่นจดหมายทวงถามความเป็นธรรมหน้าสถานทูตกัมพูชา และการชุมนุมทวงถามความเป็นธรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา