วันนี้( 14 ก.พ.2567) รายงานข่าวจากกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าหลังจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ออกมาระบุว่า มีรายชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 930 รายชื่อที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะอนุกรรมการการพักโทษ และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ได้รับการพักโทษ เป็นกรณีพิเศษ ว่า ตามขั้นตอนปกติทั่วไปยังต้องรอหนังสือคำสั่งจากคณะอนุกรรมการพักโทษก่อน โดยกรมราชทัณฑ์จะส่งรายชื่อและเงื่อนไขการคุมประพฤติของผู้ต้องหาแต่ละกลุุ่ม แต่ละคนที่ได้รับการพักโทษมาให้ ซึ่งจะมีเงื่อนไขแนบท้ายคำสั่งระบุมา
หลังจากมีการแจ้งพักโทษอย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะดูในรายละเอียดของผู้ต้องขังในแต่ละราย และ 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการพักโทษก็จะต้องรายตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ หากผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษรายใด มีอาการเจ็บป่วย ไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้ เจ้าพนักงานคุมประพฤติก็จะไปพบยังถิ่นพำนักที่ผู้อุปการะแจ้งไว้ในแบบคำร้อง จากนั้นก็จะชี้เแจงถึงกระบวนการพักโทษ รวมทั้งเงื่อนไขการคุมความประพฤติด้วย
รายงานข่าวจากกรมคุมประพฤติ ระบุอีกว่า สำหรับผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ ป่วยและอายุ 70 ปี ตามหลักเกณฑ์ไม่จำเป็นต้องใส่กำไลอีเอ็ม และในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง หรือเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น กรณีนายทักษิณ อธิบดีกรมคุมประพฤติจะมอบหมายให้มีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่คุมประพฤติเข้าพบ เพื่อแจ้งกระบวนและเงื่อนไขการพักโทษต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติ พ.ศ.2560
สำหรับนายทักษิณ ถือว่าเป็นผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ เนื่องจากสูงอายุ มีอายุ 74 ปี และเจ็บป่วย คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ อาจมีมติหรือความเห็นจะไม่ติดกำไล EM เพราะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพและอัตราความเสี่ยงน้อยที่จะไปก่อเหตุกระทำผิดซ้ำได้ โดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะทำการสืบเสาะข้อมูลให้ครบถ้วน และมีการประเมินว่าหากได้รับการพักโทษแล้ว มีผู้ค้ำประกันหรืออุปการะหรือไม่ และผู้อุปการะเป็นใคร มีอาชีพหรือมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไมม่ และเมื่อได้รับการพักโทษแล้วจะประกอบอาชีพอะไร และสถานที่ที่ไปพักโทษอยู่ที่ใด และมีเงินสำหรับดำรงชีพหรือไม่ ให้ความช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องทำการสืบเสาะข้อเท้จจริงให้รอบด้านเพื่อนำมาประเมินพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับการพักโทษด้วย เช่น มีบ้านพักอาศัย มีความความสะดวกเพียงพอ หรืออาจไปก่อเหตุซ้ำได้ หรือทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ ตามหลักพื้นฐานสำหรับการสืบเสาะข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อนายทักษิณได้รับการพักโทษครบ 6 เดือนเรียบร้อยแล้ว ก็จะพ้นโทษในช่วงเดือน ส.ค.2567