หน้าแรก Voice TV นายกฯ สั่งรุกขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ 'มุ่งรักษาฐานตลาดเดิม แสวงหาฐานตลาดใหม่'

นายกฯ สั่งรุกขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ 'มุ่งรักษาฐานตลาดเดิม แสวงหาฐานตลาดใหม่'

75
0
นายกฯ-สั่งรุกขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ-'มุ่งรักษาฐานตลาดเดิม-แสวงหาฐานตลาดใหม่'

นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานรุกขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ ‘มุ่งรักษาฐานตลาดเดิม แสวงหาฐานตลาดใหม่’ เน้นความปลอดภัย ถูกต้อง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตทุกมิติ

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการแนวทางดำเนินนโยบายที่มุ่งกระชับความสัมพันธ์ร่วมกับทั้งภาครัฐและภาคีเครือข่ายภาคเอกชนระหว่างประเทศ รวมถึงสมาคมการจัดหางานไทยในต่างประเทศและผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้แรงงานคุณภาพของไทยไปทำงานต่างประเทศ ตั้งเป้าจำนวน 100,000 ราย ภายในปี 2567 นี้ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยอีกว่า นายกรัฐมนตรี ผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับแรงงานไทยในทุกมิติ โดยเน้นให้ความสำคัญกับการส่งออกแรงงานไทยอย่างมีจริยธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองด้านค่าจ้าง สวัสดิการภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนทักษะการทำงานให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ตลอดจนส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานไทย และนำมาพัฒนาประเทศในที่สุด

โดยรัฐบาลได้กำหนด 2 มาตรการ ที่ครอบคลุม ได้แก่ 1. มาตรการรักษาตลาดแรงงานเดิมในประเทศที่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอยู่แล้ว ด้วยการสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มแรงจูงใจในการจ้างแรงงานไทยของนายจ้าง เพื่อเพิ่มจำนวนความต้องการรับแรงงานไทย และนำไปสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการจัดส่งแรงงานร่วมกัน และ 2. มาตรการแสวงหาตลาดแรงงานใหม่ในประเทศที่กำลังขาดแคลนแรงงานหรือประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มอัตราการจ้างงานแรงงานต่างชาติ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศอิตาลี ประเทศโปรตุเกส เป็นต้น โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานชี้ให้เห็นว่า จำนวนแรงงานไทยในการไปทำงานต่างประเทศนับตั้งแต่ต้นปี 2567 ตัวเลขอยู่ที่ 29,399 ราย 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างการเจรจากับสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศยอดนิยมของแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อขอเพิ่มโควตาการจ้างงานในระบบการอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System: EPS) ประเภทวีซ่า E-9 ซึ่งเป็นวีซ่าแรงงานต่างชาติประเภทไม่มีทักษะ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการจ้างแรงงานเพศหญิงในสาขาอุตสาหกรรมภาคบริการ และประเภทวีซ่า E-7 ซึ่งเป็นวีซ่าแรงงานต่างชาติประเภทมีทักษะ เพื่อขยายตลาดแรงงานทักษะฝีมือกับผู้ประกอบกิจการอู่ต่อเรือ เช่น บริษัทในเครือ Hyundai บริษัท Samsung และบริษัท Hanwha Ocean นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีแผนหารือกับองค์กรที่เป็นผู้รับแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการเจรจาขยายตลาดแรงงานไทยให้ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม บริการด้านอาหาร และบริการโรงแรมในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นอีกด้วย 

“นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเพิ่มโอกาสแรงงานไทยในต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม และอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยในตลาดโลก เพื่อทำให้การส่งออกแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ยกระดับวิถีชีวิต ประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างเท่าเทียม” ชัย กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่