เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 มี.ค.) เพตเตรี ออร์โป นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ออกมากล่าวเตือนว่า รัสเซียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับ “ความขัดแย้งอันยาวนานกับชาติตะวันตก” ในขณะที่เดนมาร์กได้ประกาศแผนการที่จะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม พร้อมกันกับการที่รัสเซียยังคงประณามการขยายตัวของสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
สัญญาณของความตึงเครียดเหล่านี้ เกิดขึ้นหลังจากการที่ฟินแลนด์และสวีเดน ได้รับการรับรองเข้าร่วมการเป็นสมาชิก NATO อันเป็นการละทิ้งสถานะชาติเป็นกลางทางการทหารที่มีมานานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน เมื่อเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ออร์โปยังได้เรียกร้องให้ชาติยุโรปเพิ่มงบประมาณ และการประสานงานในด้านการป้องกันประเทศต่างๆ ของยุโรปอีกด้วย
“เห็นได้ชัดว่ารัสเซียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งอันยาวนานกับตะวันตก และเป็นตัวแทนของภัยคุกคามทางทหารที่สำคัญและถาวรต่อยุโรป” นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์กล่าว
“หากเราในฐานะยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายนี้ได้อย่างเพียงพอ ในอีกหลายปีข้างหน้าจะเต็มไปด้วยอันตรายและภัยคุกคามจากการโจมตีที่ใกล้เข้ามา” ออร์โปกล่าวก่อนระบุเสริมว่า “รัสเซียไม่สามารถอยู่ยงคงกระพันได้”
ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียยาวที่สุดในยุโรป เรียกร้องให้ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และกล่าวว่าสหภาพยุโรปต้องเข้ามาดูแลด้านการป้องกันของตนเอง พร้อมกันนี้ ออโปร์ยืนกรานว่าความมั่นคงของยุโรปไม่สามารถขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ได้
ปัจจุบันนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือน พ.ย.นี้ เผยท่าทีว่า การสนับสนุน NATO จากสหรัฐฯ อาจอ่อนแอลง หากเขาชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้ และกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง
ในขณะเดียวกัน รัสเซียยังคงกล่าวโจมตีการขยายตัวของพันธมิตร NATO อย่างต่อเนื่อง โดย วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความคิดเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันพุธว่า การเข้าสู่การเป็นสมาชิก NATO ของฟินแลนด์และสวีเดนนั้นเป็น “ก้าวที่ไร้ความหมาย” พร้อมกันนี้ รัสเซียจะส่งกำลังทหารและระบบอาวุธทำลายล้างไปยังชายแดนรัสเซียที่ติดกับฟินแลนด์ หลังจากที่ฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นพันธมิตร NATO
ปูตินยังกล่าวเตือนชาติตะวันตกด้วยว่า ในทางเทคนิคแล้ว รัสเซียพร้อมสำหรับสงครามนิวเคลียร์ และหากสหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปยังยูเครน รัสเซียจะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ การผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนโดยรัสเซียไปในปี 2557 ก่อให้เกิดสัญญาณเตือนแก่ประเทศต่างๆ ในยุโรป ตามมาด้วยการที่ NATO เรียกร้องให้ชาติสมาชิกเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขั้นต่ำจากน้อยจาก 1.5% เป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
หลายชาติสมาชิก NATO ยังคงพยายามเพิ่มงบประมาณด้านการกลาโหมให้เท่ากับการเรียกร้องของ NATO อย่างไรก็ดี การรุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่องของรัสเซียกลายมาเป็นจุดรวมความสนใจของชาติยุโรป ในขณะที่อาวุธและกระสุนที่ยุโรปมอบให้กับยูเครนได้กระตุ้นงบด้านการกลาโหมไปด้วย
เดนมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง NATO กล่าวเมื่อวันพุธว่าพวกเขาจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอีก 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการทหาร และจะผลักดันให้งบประมาณด้านการกลาโหมของเดนมาร์กเกินเป้าหมายที่เริ่มต้นในปีนี้
“งบประมาณด้านกลาโหมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือแก่ยูเครน จะคิดเป็น 2.4% ของ GDP ของเดนมาร์กในปีนี้และในปี 2568” เมตต์ เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก กล่าวกับผู้สื่อข่าว
งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของเดนมาร์ก และให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน นอกจากนี้ งบยังมุ่งไปสู่การขยายการเกณฑ์ทหาร ซึ่งจะขยายจาก 4 เดือนเป็น 11 เดือน และจะรวมถึงการเกณฑ์ทหารผู้หญิงเป็นครั้งแรกด้วย ทั้งนี้ เดนมาร์กได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า พวกเขาจะเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารเป็นสามเท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า
“เราไม่ได้หยุดลงทุนในแนวรับ แต่มันยังคงไม่เพียงพอ” เฟรเดริกเซนกล่าว “หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายของ NATO ในการจัดวางกำลังทหารจำนวน 6,000 นายโดยเร็วที่สุด และเพื่อปกป้องเดนมาร์กจากการโจมตีทางอากาศ เราจะต้องปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้นให้เร็วยิ่งขึ้น” เธอกล่าวย้ำ
ที่มา: