วันนี้ (28 มี.ค.2567) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจงข้อเท็จจริง ในการบริหารราชการที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำหน้าที่ตามหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ซึ่งเข้าใจดีระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม และส่วนตัวเลือกที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และระหว่างบุญคุณกับการทำตามกฎหมายเลือกที่จะทำตามกฎหมาย ส่วนกฎหมายกับความถูกต้อง แม้อาจจะไม่ไปด้วยกันแต่ต้องแก้ไปด้วยกัน ส่วนระบบอุปถัมภ์และระบบคุณธรรม เลือกระบบคุณธรรม
และยืนยันว่าในการทำหน้าที่ไม่เคยได้รับการสั่งการจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายและคุณธรรม และการกลับเข้ามารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม วันที่ 22 ส.ค.2566 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในยุครัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน รมว.ยุติธรรม คือนายวิษณุ เครืองาม สวนข้าราชการประจำรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครยังเป็นชุดเดียวกัน โดยตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ไม่ได้สั่งปรับเปลี่ยนใคร พร้อมระบุว่าเสียใจที่ได้ยินข้อกล่าวหาดังกล่าว
“ที่นายถวิลกล่าวหาว่า ผมทำลายกระบวนการยุติธรรม ท่านคิดหรือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผมจะไปสั่งการท่านได้ ท่านนายกฯทักษิณ จะเข้ามาในประเทศ และต้องไปโรงพยาบาลทันที ท่านคิดหรือว่าผมจะไปสั่งการ หรือนายกฯเศรษฐาจะไปสั่งการนายวิษณุได้ ซึ่งขณะนั้นก็ยังไม่ทราบว่า พรรคประชาชาติจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ อยากให้ความเป็นธรรมสักนิดในการเก็บข้อเท็จจริง ผมว่าการทำลายระบบยุติธรรมคือการ ยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ” พ.ต.อ.ทวีกล่าว
และได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการวันที่ 11 ก.ย.2566 หลังจากที่นายทักษิณเข้าไปรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมหยิบระเบียบและกฎหมายราชทัณฑ์มาชี้แจง ซึ่งได้พิจารณาและปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายอาญาของประเทศ เดิมใช้ทฤษฎี “แก้แค้น ทดแทน ข่มขวัญ ยับยั้ง” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใช้ทฤษฎี “ฟื้นฟู” ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายมาแล้วในราชการไม่ได้มีอำนาจแก้ไข
และย้ำว่าการกำหนดโทษเป็นอำนาจศาล แต่การบริหารโทษเป็นไปตามกฎหมายราชทัณฑ์ และปัจจุบันด้วยนักโทษล้นคุก กว่า 200,000 คน และได้พิจารณาว่าการไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจที่ชั้น 14 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่มีมาก่อนอยู่แล้ว และสาเหตุหนึ่งคือเรื่องของทางการแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังไม่มีความพร้อมรองรับ อีกทั้งโรงพยาบาลก็ถือเป็นสถานที่คุมขังอื่นตามที่ระเบียบกำหนดไว้ และตามกฎหมายใหม่การคุมขังไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ
อดีตนายกฯทักษิณได้ถูกจำคุกแต่อยู่ในสถานที่คุมขังอื่น ซึ่งไม่ได้มีท่านคนเดียว ยังมีบุคคลอื่น จากตัวเลขที่อ้างอิง 4-5 หมื่นคน แต่กรณีที่เกิน 120 วันตัวเลขไม่มาก
- “ธรรมนัส” ท้า “สว.พลเดช” เปิดชื่อ จนท.ขู่เรียกรับผลประโยชน์
- “เศรษฐา” แจงวุฒิฯ คืบหน้า “เงินดิจิทัล-การลงทุน-ไปต่างประเทศ”
รมว.ยุติธรรม ชี้แจงเรื่องการพักโทษว่าราชทัณฑ์หรือ รมว.ยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจที่จะพักโทษใคร แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการพักโทษ ซึ่งมีการพิจารณาทุกเดือนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มีมาก่อนแล้ว และกรณีของนายทักษิณนั้นทางผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่าเป็นกรณีเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ และเหลือโทษไม่มากนัก ช่วยตัวเองได้ไม่ดีพอ
ขณะเดียวกันผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เห็นด้วย และเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ควบคุมเช่นกันตามกฎหมาย และชี้แจงว่าข้อมูลของผู้ป่วยเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งหากวุฒิสภาเห็นว่ากฎหมายมีปัญหาก็พร้อมที่จะแก้ไข ก่อนจะทิ้งท้ายว่าระบบการคิดของเรือนจำสมัยใหม่ ไม่ได้เอาไปแก้แค้น คุกไม่ได้มีไว้ขังคนเท่านั้น มีไว้ให้ออกด้วย แต่การจะออกจากเรือนจำต้องมีการพัฒนาพฤตินิสัย
อ่านข่าวอื่นๆ :
รัฐบาลมั่นใจตอบคำถามวุฒิฯ “ดิจิทัลวอลเล็ต-หมูเถื่อน” แย่งซีน
“เสรี” ประเดิมอภิปรายรัฐบาล จวกแก้ระเบียบให้คนไม่ติดคุก-จี้เลิกแจกเงินดิจิทัล