‘อุปกิต’ มาผิดงาน ! เหน็บ ’ก้าวไกล’ กลางเวทีซักฟอกรัฐบาล หวั่นนายกฯ ตกเป็นเหยื่อกระบวนการยุติธรรมสามานย์ วอน ‘ทวี‘ สอบอัยการเจ้าของคดี ถูกอ้างเอี่ยว ‘ตุน มิน ลัต‘
วันที่ 25 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา ญัตติอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตาม ม.153 อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่ตนตกเป็นเหยื่อความยุติธรรมสามานย์ของคนบางกลุ่มในกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้อำนาจกลั่นแกล้งในการทำลายผู้อื่น สิ่งที่ตนจะอภิปรายต่อไปนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหากระบวนการต้นน้ำ และกลางน้ำ ของการบังคับใช้กฎหมาย ที่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความชัดเจนจริงจังในการแก้ปัญหา
โดย อุปกิต กล่าวว่า การทุจริตที่ชั่วร้ายที่สุดคือการฉ้อฉลกระบวนการยุติธรรม กว่า 1 ปี 4 เดือน ที่ตนตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง และพรรคการเมือง ทึ่เล่นการเมืองเพื่อหวังชิงอำนาจรัฐ โดยอ้างการเป็นคนรุ่นใหม่ โดยอ้างการล้มล้างโครงสร้างทุกอย่างในสังคมไทย เพื่อหวังคะแนนเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล
ตนขอตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สังคมตั้งคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในสอบสวนคดีอาญา
“คุกไม่ได้มีไว้ขังคนที่กระทำความผิดอย่างเดียวครับ มีการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย ตำรวจ อัยการอาวุโสบางกลุ่ม ร่วมกันใส่ร้ายป้ายสีคนบริสุทธิ์ กลั่นแกล้งประชาชน อย่างไร้ความอาย ไร้คุณธรรม“ อุปกิต กล่าว
อุปกิต กล่าวต่อว่า บ้านเมืองของเราหลายปีที่ผ่านมานี้ มีความผิดปกติ พรรคการเมืองที่มีนโยบายล้มล้าง ทำทุกวิถีทางในการกัดเซาะเสาหลักของประเทศ ทฤษฎีสมคบคิดที่ทำให้ตนถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘สว.ทรงเอ’ ในคดี ‘ตุน มินลัต’ ที่ศาลยกฟ้อง ครอบครัวตนได้รับความเดือดร้อน และมีผลกระทบอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัส จากการถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ใครไม่ประสบด้วยตนเอง คงยากที่จะรู้ซึ้ง
อุปกิต กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับ ‘ตุน มินลัต’ เป็นพล็อตเรื่องอันโอชะของการโฆษณาชวนเชื่อชาติตะวันตก และสื่อต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ในการใส่สีตีไข่สร้างข่าวปลอม ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสื่อไทยบางสำนัก ในการโจมตีรัฐบาล และพรรคการเมืองบางพรรคเป็นเครือข่ายสมคบคิด และข้อมูลที่ตนถูกกล่าวหา มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองอยู่อย่างแน่นอน เพื่อทำลายศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดที่แล้ว และนำไปใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง
“โชคดีที่พรรคการเมืองนี้ ไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะขนาดตัวเองเป็นฝ่ายค้าน ธาตุแท้ความจอมปลอมต่างๆ ค่อยๆ โผล่ออกมาให้ประชาชนเห็นหลายเรื่อง พอมีอำนาจแค่เป็นประธานกรรมาธิการก็ใช้กลไกนี้ กดดันผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อหวังทำร้ายตนให้จงได้ การสมคบคิดของกลุ่มคนที่ใส่ร้ายตน ล้วนเป็นบุคคลที่มีกระบวนการล้มล้างเหมือนกันหมด คนที่ชอบกล่าวหาคนอื่น โจมตีสภาผัวสภาเมีย ย้อนแย้งเวลาที่พวกตัวเองทำเสียเอง”
อุปกิต กล่าวอีกว่า สังคมแบบไหนกันที่ปล่อยให้คนสร้างภาพ แอบอ้างอุดมการณ์ แอบอ้างสิทธิเสรีภาพ ประโยชน์ของประชาชน เข้ามามีโอกาสในสังคมการเมือง ขนาดผมฟ้องหมิ่นประมาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ก็ปั่นกระแสว่าตนฟ้องปิดปาก เขาชอบอ้างว่า หลักกระบวนการยุติธรรม คือตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กรณีของตน เขากลับตามทำตัวเป็นศาลเตี้ย และพิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่อุปกิตอภิปรายอยู่นั้น ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ซึ่งเป็นประธานในการประชุม ได้พูดขัดขึ้นมาว่า “ท่านอภิปรายเกี่ยวกับรัฐบาลชุดนี้ หรือคนนอกครับ” ทำให้ อุปกิต ตอบกลับว่า “ใช่ครับ ผมกำลังจะโยงให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นโอกาสเดียว ที่ตนจะมีโอกาสพูด และแก้ต่างให้กับตัวเอง”
อุปกิต กล่าวต่อว่า พฤติกรรมที่ตนกล่าวมานี้ ยืนยันเจตนา ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้าง และหวังว่าประชาชนคงรู้ทัน เวลาตนฟ้องก็ใช้เอกสิทธิ์คุ้มครอง เพื่อไม่ให้ตกเป็นจำเลย และมีการประกันตัว ขอฝากว่า “ช่วยแสดงตัวเป็นลูกผู้ชายด้วยครับ”
อุปกิต กล่าวชี้แจงถึงกระบวนการกลางน้ำที่ตนเองเจอ รวมถึงคดีของ ‘ตู้ห่าว‘ พร้อมยืนยันว่า มีการสืบสวนผิดทิศทาง และเชื่อว่า เป็นการผิดทิศทางที่ตั้งใจ ทำให้ตนตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของอดีตอัยการท่านนี้ ว่าได้ดำรงตนด้วยความเป็นกลางในการดำเนินคดี และวินิจฉัยคดีต่างๆ โดยปราศจากอคติ และเที่ยงธรรมตามข้อเท็จจริง และกฎหมายหรือไม่ มีการเล่นพรรคพวกเพื่อแสวงหาประโยชน์ใดหรือไม่ มีความผิดปกติใด อยู่ในอัยการสูงสุดหรือไม่
อุปกิต กล่าวอีกว่า ตนเป็นห่วงว่า หากคนในกระบวนการยุติธรรมไปรับใช้นักการเมือง จะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการแถลงผลงาน การแต่งตั้ง บุคคลที่ค่อนข้างมีความสนิทกับอัยการที่ตนกล่าวไปข้างต้น และคำสั่งตั้งอัยการคนนี้กลับมาดำรงตำแหน่ง “ผมสงสัยว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ไร้ซึ่งคนมีฝีมือแล้ว หรือเพราะภารกิจสำคัญยังไม่สำเร็จ ส่วนแบ่งของรางวัล สินบน ที่ตั้งมาสร้างแรงจูงใจ ให้คนที่ทำคดีได้ 25% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้ คนแจ้งเบาะแสได้ 5% ด้วยคริปโต เมื่อคำนวณออกมาแล้วมีมูลค่ามหาศาล“
อุปกิต ฝากไปถึงนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า ดีใจที่ได้เจอ ขอท่านช่วยกรุณาไปดูเรื่องการแต่งตั้งนี้ด้วย ให้เป็นไปตามขั้นตอนธรรมเนียมปฏิบัติทางราชการ และกรุณาตรวจสอบประวัติของอัยการท่านนี้ ตนขอรับรองว่า หากท่านรัฐมนตรีสามารถปลดอัยการอาวุโสท่านนี้ ท่านจะได้รับการชื่นชมสรรเสริญอย่างยิ่ง“
อุปกิต ทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ มีกฎหมายมากมายเป็นหลักการปกครอง และบริหารบ้านเมือง ในการแถลงนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ ว่ารัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ แต่ผ่านมาเกือบ 7 เดือนแล้ว ตนไม่เห็นสิ่งใดที่จะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้ริเริ่มเรื่องนี้เลย ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้
ตรงกันข้าม ต้องกลายเป็นเหยื่อยุติธรรมสามานย์ของคนบางกลุ่ม มีผู้รับเคราะห์จากการใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรมของผู้บังคับใช้กฎหมาย บางครั้งแทนที่ตำรวจ อัยการบางกลุ่ม จะเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน กลับต้องไปใช้ช่องทางร้องเรียนผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อใช้เกิดกระแส ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายขยับ ตนไม่ทราบว่าแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่ทำกันมา ท่านนายกรัฐมนตรีได้อ่านบ้างหรือไม่
“กระผมเป็นสมาชิกวุฒิสภายังถูกกระทำขนาดนี้ ประชาชนตาดำๆ จะเป็นอย่างไร จะถูกกระทำขนาดไหน ไม่แน่นะครับว่าวันหนึ่ง ท่านรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ หรือท่านนายกฯ อาจตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมสามานย์เช่นเดียวกับที่กระผมตกเป็นเหยื่อมาแล้ว” อุปกิต กล่าวทิ้งท้าย