หน้าแรก Voice TV ‘วีระ’ กมธ.วิสามัญร่างกฎหมายงบ’68 ชี้หากรัฐบาลยังจัดทำงบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดวิกฤติการคลังในอนาคต

‘วีระ’ กมธ.วิสามัญร่างกฎหมายงบ’68 ชี้หากรัฐบาลยังจัดทำงบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดวิกฤติการคลังในอนาคต

61
0
‘วีระ’-กมธ.วิสามัญร่างกฎหมายงบ’68-ชี้หากรัฐบาลยังจัดทำงบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง-จะทำให้เกิดวิกฤติการคลังในอนาคต
‘วีระ’ กมธ.วิสามัญร่างกฎหมายงบ’68 ชี้หากรัฐบาลยังจัดทำงบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดวิกฤติการคลังในอนาคต

วีระ ธีระภัทรานนท์ ชี้หากรัฐบาลยังจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดวิกฤติการคลังของประเทศในอนาคต แนะทำงบแบบไม่เพิ่มวงเงินรายจ่ายอย่างน้อย 3 ปีงบประมาณเพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง

นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กล่าวอภิปราย มาตรา 4 แห่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยเสนอให้ตัดลดงบประมาณลง 187,700 ล้านบาท ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแต่ละปี สามารถดูความเหมาะสมได้เป็น 2 แบบ คือ 

1. มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายมีแหล่งที่มาของรายจ่ายจากที่ใด 

2. ดูว่ามีการจัดสรรงบประมาณอย่างไร 

ซึ่ง งบประมาณปี 2568 มีที่มาจากรายได้ของรัฐบาลที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2.88 ล้านล้านบาท และจากการกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้ของรัฐบาลที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายทั้งหมด จำนวน 8.65 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล โดยมีข้อสังเกตว่า ทุกรัฐบาลมีการจัดงบประมาณแบบขาดดุลและกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ภาระหนี้สินในรูปแบบหนี้สาธารณะพอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลแบบเรื้อรังสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่ห่วงใยสถานะการเงินการคลังของประเทศอย่างมาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย.67 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างมากถึง 11.54 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมด้วยการกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 อีก 8.65 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอดคงค้างหนี้สาธารณะจะทะลุถึง 12 ล้านล้านบาท และอาจจะสูงถึง 13 ล้านล้านบาท ภายในสิ้นปี 2568 และในอนาคตภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ยังมีการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลและมีการกู้เงินชดเชยการขาดดุลอีก ไทยจะมีปัญหาการเงินการคลังภาครัฐอย่างสาหัสแน่นอน

นายวีระ กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณปี 2568 ว่า เงินก้อนแรก คือ งบประมาณรายจ่ายประจำ 2.74 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 9.8 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินต้น 1.51 แสนล้านบาท สิ่งที่เห็น คือ รายจ่ายประจำไม่ได้ลดลง แต่ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้นโดยตลอด ทำให้ปัจจุบันถึงจุดอันตราย คือ รายจ่ายที่ยากจะตัดทอน กล่าวคือ การจัดทำงบประมาณครั้งต่อไปจะมีรายจ่ายที่ไม่สามารถตัดลดได้ คิดเป็นร้อยละ 67 สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 66 และจะเพิ่มขึ้นในปี 2567 และ ปี 2568 สรุป คือ เงินของรัฐบาลที่จะดำเนินการผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี ล้วนเป็นเงินกู้ที่มีภาระต้องหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาชำระคือในอนาคตทั้งหมด ซึ่ง หนี้ของรัฐบาลเป็นเช่นไร หนี้ของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น ผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินการคลังการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลย่อมทราบดีว่า นี่คือสัญญาณอันตรายที่จะทำให้เกิดวิกฤตการคลังในอนาคต แม้ว่าการจัดทำงบประมาณปี 2568 และในอนาคตจะจัดทำขึ้นตามกฎหมายทุกฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการเงินการคลัง แต่ตนย้ำว่าการทำถูกกฎหมายอย่างครบถ้วนหรืออยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดก็สามารถนำไปสู่วิกฤตการคลังได้เช่นกันหากดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ติดกับดักการจัดทำงบประมาณ 

ในขณะที่ภาระทางการคลัง เพิ่มขึ้นทุกปี หากดูการบริหารหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยงบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีการตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ภาครัฐถึง 4.1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการชำระคืนเงินต้นเพียง 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงการชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงินภาครัฐที่ออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อนและเป็นเงินนอกงบประมาณ มียอดคงค้างไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเมื่อสิ้นสุดงบประมาณวันที่ 30 ก.ย.66 แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบว่ายอดคงค้างดังกล่าวว่ามีจำนวนเท่าใด เพราะรัฐบาลยังไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ และหากไม่บริหารจัดการปัญหานี้ก็จะพัฒนากลายเป็นความเสี่ยงทางการคลังและวิกฤติการคลังได้ในที่สุด

พร้อมกันนี้ นายวีระ ได้อภิปรายข้อเสนอให้นับจากนี้ไป ตั้งแต่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบไม่เพิ่มวงเงินรายจ่ายอีกแล้ว (Zero Gross Budget) แล้วต้องทำอย่างน้อย 3 ปีงบประมาณจนกว่าภาระและความเสี่ยงทางการคลังจะลดลงสู่ระดับที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลต้องหยุดสร้างภาระทางการคลังในอนาคต โดยใช้มาตรการกึ่งการคลังโดยให้สถาบันการเงินการคลังของรัฐออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อน จนกว่ารัฐบาลจะจัดสรรเงินใช้หนี้คงค้างกว่า 1 ล้านล้านบาท จนกว่าจะปรับลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่ทำเช่นนี้ รัฐบาลจะประสบกับวิกฤติการคลังในอนาคต ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์แก้ไขปัญหานี้มาก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่