วันที่ 21 ก.ย.2567 เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเสวนา เรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดประเทศไทย การเมืองและกฎหมายจะกำกับกลุ่มทุนได้อย่างไร” โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI.) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการป่าสาละ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และนายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจร่วมอภิปราย
TDRI ชี้ การเมืองไทยเอื้อกลุ่มทุน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า วันนี้กลุ่มทุนกำลังคิดว่าจะกำกับการเมืองและกฎหมายอย่างไรมากกว่าที่การเมืองและกฎหมายจะกำกับกลุ่มทุน วันนี้การเมืองไทยไปเอื้อทุน ทุนไปกำกับรัฐ รัฐเข้าไปเอื้ออำนวยให้กับกลุ่มทุนพวกพ้อง
การเกิดกลุ่มทุนเข้าไปคุมรัฐหรือ state capture เห็นได้จากการที่กลุ่มทุนเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล หรือจัดให้เกิดดีลทางการเมืองเกิดขึ้น หลังจากนั้นผู้นำการเมืองก็เรียกกลุ่มทุนมาสยบยอม จากการที่กลุ่มทุนช่วยจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลจึงดึงกลุ่มทุนเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อไป
การผูกขาดทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนมักเกิดขึ้นจากรัฐไทยเข้าไปเอื้อประโยชน์และให้สัมปทานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ยังมีการผูกขาดโดยรัฐยินยอม เช่น การขออนุญาตควบรวมกิจการจากรัฐและรัฐอนุญาต เป็นต้น นอกจากนั้นยังเกิดการผูกขาดโดยรัฐทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นอีกด้วย จนประเทศไทยเป็นประเทศเสรีในการผูกขาด กลายเป็นรัฐขูดรีดในที่สุด
บทเรียนของสหรัฐอเมริกา การผูกขาดทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนและแรงงานจำนวนมาก และมีกลุ่มทุนที่ร่ำรวยมาจากการเอาเปรียบประชาชนถูกมองเป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะเติบโตจากการแย่งชิงทรัพยากร ตัวอย่างการผูกขาดการขนส่งรถไฟเกิดการประท้วงใหญ่ จนเกิดพรรคการเมืองที่มีนโยบายต่อสู้กับทุนผูกขาดโดยตรง และต่อมามีการออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดโดยได้รับฉันทานุมัติจากสภา แต่สถานการณ์ในสหรัฐฯ คล้ายกับไทยในเวลานี้ คือกฎหมายการต่อต้านการผูกขาดอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของรัฐซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับทุน รวมถึงศาลด้วย
แต่ปัจจุบัน ทุนในอเมริกาที่เติบโตแบบอภิมหาเศรษฐีโจร ไม่ได้ยอมรับจากประชาชนและไม่สามารถเสวยสุขอย่างมีเกียรติได้ สุดท้ายต้องมาตั้งมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ขึ้น
ดังนั้น ภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็งรวมกันตั้งพรรคประชาชนเพื่อรณรงค์อย่างเข้มข้น และต้องรณรงค์ไม่ยอมรับอภิมหาเศรษฐีที่เติบโตมาจากการผูกขาด การรณรงค์เช่น การทำรายชื่อธุรกิจที่ทุนผูกขาดไปถือหุ้นอยู่ บางเรื่องอาจจะเลือกไม่ได้เช่นกรณีโทรศัพท์มือถือ แต่หลายอย่างเรามีทางเลือกได้ เช่นการปฏิเสธ สนับสนุนธุรกิจผูกขาดร้านกาแฟ เป็นต้น และควรเลิกเชิดชูบรรดาเจ้าสัว ทุนผูกขาดที่เติบโตจากการเอารัดเอาเปรียบประชาชน มหาวิทยาลัยไม่ต้องให้ปริญญากิตติมศักดิ์
“ฝรั่งมีคำว่า เบื้องหลังความร่ำรวยลึกล้ำ คืออาชญากรรมซ่อนเร้น ประเทศไทยควรเข้าร่วมประชาคมระหว่างประเทศที่ต่อต้านการผูกขาด จะเป็นการเสริมพลังในเรื่องนี้ได้ เรื่องนี้ควรเป็นวาระของประชาชนผู้เสียภาษีและในฐานะผู้บริโภค ในฐานะพลเมืองที่รักประชาธิปไตย”
ทุนยึดกุมรัฐรุนแรงกว่าทุกยุค
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการป่าสาละ กล่าวว่า รัฐมีหน้าที่กำกับดูแลแต่จะดูแลกำกับได้จริงไหม ดูจากที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายว่า รัฐบาลจะดูแลปกป้องผู้ประกอบการ SME จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ ซึ่งไม่ได้มองว่าการผูกขาดของกลุ่มทุนไทยเองเป็นปัญหาด้วย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยไปในตัว
10 ปีให้หลังมานี้เศรษฐกิจประเทศไทยเลวร้ายกว่าการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ปัจจุบันกลายเป็นการยึดรัฐโดยตรงของกลุ่มทุนต่างๆ เกิดการฉ้อฉลเชิงอำนาจ การบิดเบือนอำนาจรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ปัญหา State Capture ในปัจจุบันเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าหากกลุ่มทุนยึดรัฐ และถ้าเข้าไปถึงการยึดศาลด้วย
ตนเห็นด้วยว่าเราไม่ควรเชิดชูนักธุรกิจที่เติบโตมาจากการเอากำไรจากการเสียประโยชน์ของส่วนรวม หรือเรียกว่าเติบโตมาจาก “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่เลว” ถ้าเกิดว่าเรามีผู้เล่นที่หลากหลายหรือ 5-6 รายขึ้นไป ประเทศไทยจะดีกว่านี้แน่นอน ดังนั้น กฎหมายจะต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ในแง่เศรษฐกิจ ธุรกิจในเมืองไทยหากได้กำไรที่มั่นคงจากการเอื้ออำนวยของรัฐก็ไม่มีแรงบันดาลใจไปแข่งขันต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่ต่ำลงด้วย ไม่เกิดการแข่งขันในประเทศที่เกิดการผูกขาดที่เอื้อประโยชน์จากรัฐในปัจจุบัน การเสียโอกาสของประเทศจากเรื่องนี้ ควรมีการศึกษาเพื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
วิธีการตรวจสอบทฤษฎีการยึดรัฐ คือ การตัดสินขององค์กรของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ หรือตัดสินบนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน เช่นกรณีการตัดสินของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กสทช. ฯลฯ การยึดกุมรัฐ ส่งผลเสียหายต่อสังคมร้ายแรงกว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งประชาชนจะไม่สามารถที่จะร้องเรียนใครได้
ทั้งนี้เสนอว่า ผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการผูกขาด เดือดร้อนจากการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของรัฐ ควรทำงานกับประชาชนมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีข้อเสนอดังนี้
1.ทำให้เห็นว่าต้นทุนหรือความเสียหายจากการผูกขาดชัดเจนมากขึ้นในสังคม เช่นเรื่องอาหาร โทรคมนาคม ค่าครองชีพที่แพงขึ้นอย่างมาก โยงกลับมาสู่ปัญหาและผลกระทบจากการผูกขาด
2.ภาคการเมืองควรทำงานเรื่องนี้มากขึ้น ควรมีนโยบายหรือมาตรการ โดยเฉพาะการเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล
3.กลไกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์จะต้องมีการแก้ไขและตรวจสอบ รวมถึงศาลด้วย เพื่อขับเคลื่อนไม่ให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนจนขาดนิติธรรมในทางปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ผิดหลักกฎหมายที่ควรเป็น
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชี้ทุนยึดกลไกราชการมายาวนาน
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า แต่ละยุคสมัยมีพัฒนาการคอร์รัปชันมาจากต่อเนื่อง จากการเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา มาถึงการร่วมมือกันระหว่างรัฐและกลุ่มทุน และเกิดการแทรกแซงระบบราชการชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่าง การทุจริตยา การทุจริตสวนครัวรั้วกินได้ มาจนถึงการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย และการอุปถัมภ์ทางการเมืองเกิดขึ้นในยุคนี้ โดยข้าราชการต้องถูกบังคับเข้าสังกัดทางการเมือง นักธุรกิจกับการเมืองเป็นเนื้อเดียวกัน และมีตัวแทนกลุ่มทุนเข้ามาเล่นการเมือง
วันนี้เกิดการเข้าแทรกแซงควบคุมกับทุกอำนาจของรัฐ โดยเฉพาะองค์กรอิสระต่างๆ และมีการบิดเบือนการผลักดันนโยบายสาธารณะ ประเทศไทยมาถึงยุค Money Politics ที่มีการคอร์รัปชันทุกระดับ
ทั้งนี้ขอให้ร่วมกันตรวจสอบนโยบายรัฐบาล วันนี้บอกว่าจะซื้อรถไฟฟ้าทุกสายมาเป็นของรัฐ ซึ่งอาจแพงกว่าจริงหลายเท่า โดยใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่าย
นอกจากนี้ เรามักมองธุรกิจที่เชื่อมโยงทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจที่น่าจะผูกขาด เช่น ธนาคาร อยู่ในเกณฑ์การแข่งขันไหม? ถึงขั้นการผูกขาดหรือเปล่า รวมถึงบริษัทบางกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทำตามกฎหมายทุกอย่าง แต่มีแนวโน้มผูกขาดตลาด จะต้องถูกตรวจสอบมากขึ้น
การคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจ การเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุน ไม่ใช่เฉพาะจากข้าราชการระดับใหญ่เท่านั้น แต่ไปจนถึงการกำหนดนโยบาย การพูดหรืออธิบายแทนนายทุน เพราะทุนใหญ่เหล่านั้นครอบงำตลาดมานาน และเลี้ยงดูปูเสื่อข้าราชการมานาน ผ่านมาหลายสิบปี คนกลุ่มนี้เป็นข้าราชการใหญ่ที่สามารถกำหนดนโยบายขององค์กรตอบสนองต่อกลุ่มทุนต่างๆ ได้ เช่น ทุนพลังงาน ฯลฯ
ตนตั้งคำถามว่า คนที่คุมเสียงทางการเมืองส่วนใหญ่ในเวลานี้ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร จะเอาไปพูดในสภาไหม แต่ตนหวังภาคประชาชนกับภาคธุรกิจจะร่วมมือกันแบบในประเทศเกาหลี และในอินโดนีเซีย ที่บทบาทของชนชั้นกลางมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยควรรณรงค์กับชนชั้นกลางให้เห็นปัญหาร่วมกัน
“ปรีดา” จี้ เอาจริงแก้ผูกขาดเศรษฐกิจ
นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแทบไม่เกิดขึ้นเลยในอดีต เท่ากับไม่มีผลงานในปัจจุบัน การตัดสินการควบรวมต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ในการเขียนกฎหมายนี้ เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดและการควบรวมกันของกลุ่มทุนซึ่งทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ปัจจุบันประชาชนไทยมีชะตากรรมอยู่ภายใต้กลุ่มทุนที่ผูกขาดเศรษฐกิจมากกว่า 80% ในชีวิตประจำวัน
“ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในปัจจุบันถือเป็น Bad GDP ที่ควรต้องทำลายลง และต้องสร้าง Good GDP ของประเทศที่มีคุณภาพ หมายถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ตอบโจทย์กับรายได้ที่ดีของประเทศ”
จี้แก้ทุนผูกขาดเป็นวาระแห่งชาติ
นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวสรุปว่า ในขณะที่ภาคประชาชนตั้งคำถามว่า การเมืองและกฎหมายจะกำกับกลุ่มทุนได้อย่างไร รัฐบาลและฝ่ายการเมืองอาจจะกำลังดำเนินการออกกฎหมายและนโยบายเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนได้อย่างไร ขณะที่กลุ่มทุนธุรกิจการเมืองกำลังวางแผนประชุมกันว่า การเมืองและกฎหมายจะเอื้อประโยชน์แก่พวกเราได้อย่างไร
เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จะรณรงค์และผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอเรียกร้องรัฐบาลและพรรคการเมือง ได้ดำเนินการเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ อภิปรายในรัฐสภา จัดเวทีการศึกษามากขึ้นเพื่อให้ความรู้กับสังคม เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจประเทศไทยล้มเหลวจากการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ จนต่อไปอาจเหลือเพียงแค่คนสองชนชั้นเท่านั้นในประเทศไทย
อ่านข่าว :