ศาลปากน้ำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สภา มร.เลิกจ้าง ‘สืบพงษ์’ ได้ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้(18 เม.ย. 2566) ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่ง นัดไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีฉุกเฉิน กรณีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โจทก์ กับ สืบพงษ์ ปราบใหญ่ และพวกรวม28คน จำเลย
โดยวันนี้ศาลได้ไต่สวนพยานโจทก์ได้ 2 ปาก ระหว่างไต่สวนอ้างส่งเอกสารจำนวน19 ฉบับโดยโจทก์แถลงขอหมดพยานชั้นไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีฉุกเฉินเพียงเท่านี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 นำวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน กพ. สมัครเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ไม่มีฐานเป็นพนักงาน โจทก์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงทำให้จำเลยที่ 2ถึง 28 หลุดพ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไปตามกฎหมาย
การที่จำเลยทั้ง 28 คน เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเห็นควรนำวิธีการชั่วคราวก่อน คำพิพากษามาใช้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 (2 )โดยให้จำเลยทั้ง28 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่และขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากสำนักงานอธิการบดีอันเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของโจทก์และรองอธิการบดีของโจทก์ตามฟ้องจนกว่าคดิจะถึงที่สุด
กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถอดถอน สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงและยื่นฟ้อง สืบพงษ์และพวก เนื่องจาก สืบพงษ์มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลทันที โดยระบุพฤติการณ์ ได้แก่ 1. ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการสมัครเข้าบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ จากการตรวจสอบวุฒิการศึกษาปริญญาเอกของ ผศ.สืบพงษ์ ปรากฏว่า “ไม่พบข้อมูลระดับปริญญาเอก” ตามหนังสือลับจากสำนักงาน ก.พ. ลงวันที่ 10 ส.ค. 2565จึงเป็นที่มาของการฟ้องศาลในครั้งนี้