หน้าแรก Voice TV ครม. รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/ 2566 และแนวโน้มปี 2566

ครม. รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/ 2566 และแนวโน้มปี 2566

79
0
ครม.-รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส-1/-2566-และแนวโน้มปี-2566

ครม. รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/ 2566 และแนวโน้มปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (16 พฤษภาคม 2566) รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปื 2566 และแนวโน้มปี 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สาระสำคัญ ดังนี้ 

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า                   

1.1 ด้านการใช้จ่าย  การส่งออกบริการและการบริโภคอุปโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง  การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร หมวดสินค้าคงทน ขยายตัวร้อยละ 2.4 หมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.3 การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 และการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยเป็นการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 6.9 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ                       

1.2 ด้านการค้าระหว่างประเทศ  

  • การส่งออกสินค้า- มีมูลค่า 69,806 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น เคมีภัณฑ์และปิโตรเลียมเคมี ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ อุปกรณ์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ยางพารา สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์นั่ง  รถกระบะและรถบรรทุก เครื่องปรับอากาศ ขณะที่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักลดลง แต่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง อินเดียและสหราชอาณาจักรขยายตัว
  • การนำเข้าสินค้า- มีมูลค่า 66,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า 
  • ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมการป่าไม้และการประมงขยายตัวร้อยละ 7.2 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ที่ร้อยละ 1.3 โดยสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือก มันสำปะหลังและไก่เนื้อ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ที่ร้อยละ 6.2 สาขาที่พักโรงแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.3  

โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 6.478 ล้านคน มูลค่าการบริการรับด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.04 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 300. 4 ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยมีจำนวน 1.95 แสนล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.499 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.7  สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ร้อยละ 3.3   สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.1 ตามการลดลงของกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกและกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ  สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 4.2

  • เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.05 ต่ำกว่าร้อยละ 1.15 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,797,505.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.2 ของ GDP 

2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.7 การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.9 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.4 ของ GDP 

3. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2566  การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะให้ความสำคัญกับ 

(1) การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เช่น การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและการสร้างตลาดใหม่ ติดตามและเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก  การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก เป็นต้น  

(2) การส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 – 2565 เกิดการลงทุนจริง การส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นต้น

(3) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาและสร้างความพร้อมต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ  การพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เป็นต้น 

(4) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร จะให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก 2566 / 2567 ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ  ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นต้น

(5)การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศในช่วงหลังการเลือกตั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่