กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติไม่รับคำร้อง 3 คำร้องตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น เหตุคำร้องยื่นเกินระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา ตามม.151
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 พบว่ามาตรา 151 ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรค 1 เป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย
กกต.เป็นเจ้าภาพเอง-ชี้โทษม.151 หนัก
สอดคล้องกับที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊ก ระบุว่า กรณีกกต.ตั้งกรรมการไต่สวน ตาม ม. 42 (3) และ ม.151 มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง-รู้ว่าไม่มีสิทธิ์แต่ยังฝืนลงเลือกตั้งสรุปว่า “หนักกว่าเดิม” ดังนี้
- ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง แต่รับเป็นความปรากฏแปลว่า กกต.รับเป็นเจ้าภาพเอง
- ดำเนินคดีอาญา มาตรา 151 คือ หากกกต.พบว่านายพิธา สมัครโดยขาดคุณสมบัติ กกต. แจ้งความดำเนินคดีผ่านตำรวจ อัยการ ไปศาลอาญาได้เลย ไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ โทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี
- การร้องคดีถือหุ้นสื่อ ยังร้องได้หลังมีการรับรอง ส.ส.แล้ว ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. 50 คน หรือ ส.ว. 25 คน หรือ กกต.ร้องเองในฐานะความปรากฏ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนการเป็น ส.ส. และตัดการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้อีกรอบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
มติ กกต. ไม่รับ 3 คำร้อง “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี แต่รับพิจารณาตาม ม.151
“พิธา” ไม่หวั่นหุ้นไอทีวีซ้ำรอย “ธนาธร” ไร้การติดต่อจาก กกต.