หน้าแรก Voice TV เชลยศึกโสมขาวยังรอความเป็นธรรม หลังหนีจากโสมแดง แต่ รบ.เกาหลีใต้ปฏิเสธ

เชลยศึกโสมขาวยังรอความเป็นธรรม หลังหนีจากโสมแดง แต่ รบ.เกาหลีใต้ปฏิเสธ

92
0
เชลยศึกโสมขาวยังรอความเป็นธรรม-หลังหนีจากโสมแดง-แต่-รบ.เกาหลีใต้ปฏิเสธ

ลีแดบง ในวัย 92 ปี เหลือนิ้วมือซ้ายของเขาแค่ 2 นิ้ว ในขณะที่นิ้วของเขาหายไป 3 นิ้ว โดยอาการบาดเจ็บของเขาไม่ได้เป็นผลมาจากสงครามเกาหลีที่เขาร่วมต่อสู้ แต่มาจากการที่เขาถูกบังคับให้ทำงานอย่างหนักในเหมืองถ่านหินของเกาหลีเหนือเมื่อช่วง 54 ปีต่อมา

ลีเป็นอดีตทหารเกาหลีใต้ ที่ถูกจับตัวไประหว่างสงครามเกาหลีโดยกองทหารจีน ที่ร่วมต่อสู้กับเกาหลีเหนือ โดยมันเป็นวันที่ 28 มิ.ย. 2496 ที่เป็นวันแรกของการรบต่อสู้บริเวณ แอร์โรว์เฮด ฮิลล์ และเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 1 เดือน ก่อนที่ศึกสงครามจะยุติลงจากการต่อสู้อันทรหดตลอด 3 ปี

กองทหารทั้งสามที่ร่วมรบกับลีถูกฆ่าตายในวันนั้น ในขณะที่เขาและผู้รอดชีวิตอีก 2 คนถูกขนขึ้นรถไฟบรรทุกสินค้า ในตอนนั้นลีคิดว่าพวกเขากำลังมุ่งหน้ากลับบ้านที่เกาหลีใต้ แต่รถไฟได้เลี้ยวไปทางเกาหลีเหนือเพื่อไปยังเหมืองถ่านหินอาโอจิ ที่ที่เขาจะได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตทั้งหมดไป ในขณะที่ครอบครัวของลีได้รับแจ้งว่าเขาเสียชีวิตในสนามรบไปแล้ว

ทหารเกาหลีใต้จำนวนประมาณ 50,000 ถึง 80,000 นายถูกจับเป็นเชลยในเกาหลีเหนือ

หลังจากสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง ตามข้อตกลงสงบศึกที่แบ่งคาบสมุทรเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้แยกออกจากกัน ทั้งนี้ สนธิสัญญาสันติภาพไม่ได้สร้างสันติอย่างแท้จริง และนักโทษไม่เคยถูกส่งกลับ อย่างไรก็ดี ลีเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถหลบหนีออกมาจากเกาหลีเหนือได้

ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีการสู้รบกันอยู่บ้าง แต่ความพยายามในการสงบศึกระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลให้การพักรบระหว่างทั้งสองประเทศถือเป็นการพักรบที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี ความไม่สงบสุขได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตของลี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักโทษและครอบครัวของพวกเขา ในขณะที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เพิ่งลงนามในข้อตกลงพักรบครอบรอบ 70 ปีไป เรื่องราวของพวกเขากลับยังคงเป็นเครื่องเตือนความทรงจำว่าสงครามเกาหลียังไม่สิ้นสุด

ในช่วงปีแรกของการถูกกักขังจองจำ ลีถูกบังคับให้ใช้แรงงานในเหมือง 1 สัปดาห์ ตามด้วยการเรียนอุดมการณ์ของเกาหลีเหนืออีก 1 สัปดาห์ จนกระทั่งในปี 2499 เขาและนักโทษคนอื่นๆ ถูกปลดสภาพความเป็นทหาร และถูกบอกให้แต่งงานกับคนเกาหลีเหนือ เพื่อที่จะกลมกลื่นเป็นหนึ่งไปกับชาวเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ดี พวกเขาและครอบครัวใหม่ของพวกเขากลับถูกขับไล่ กลายคนนอกคอกเทียบเท่าชนชั้นจัณฑาล และตกอยู่ในจุดต่ำสุดของระบบวรรณะทางสังคมที่เข้มงวดของเกาหลีเหนือ

การขุดหาถ่านหินวันแล้ววันเล่าเป็นเวลากว่า 50 ปี นับเป็นงานที่หนักหนาสาหัส อย่างไรก็ดี ลีกล่าวว่าสิ่งที่ยากที่สุดที่เกินจะทนได้ คือความหวาดกลัวจากบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยวันหนึ่งมือของเขาติดอยู่ในเครื่องจักรแปรรูปถ่านหิน แต่การสูญเสียนิ้วของเขากลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเขาเห็นเพื่อนหลายคนเสียชีวิตจากการระเบิดของก๊าซมีเทน

“วัยหนุ่มของเราหมดไปกับเหมืองถ่านหินแห่งนั้น ทั้งรอคอยและหวาดกลัวการตายอย่างไร้ความหมายทุกวินาที” ลีกล่าว “ผมคิดถึงบ้านมากโดยเฉพาะครอบครัวของผม แม้แต่สัตว์นั้น เวลาใกล้ตายมันยังกลับไปที่รังของมันเลย”

ขณะที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ขีดเส้นกั้นเขตแดนประเทศ เพื่อแยกเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ออกจากกัน เชลยศึกจำนวนมากและครอบครัวของพวกเขาต่างกล่าวโทษทั้งสองฝ่าย สำหรับความทุกข์ทรมานที่พวกเขาได้รับ

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้หลายคนเคยพบปะกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ดี การรักษาความปลอดภัยและการรับเหล่าเชลยศึกกลับบ้านเกิดกลับไม่อยู่ในวาระการหารือเหล่านั้น 

ในการประชุมสุดยอดเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเมื่อปี 2543 ระหว่าง คิมแดจุง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และ คิมจองอิล ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ประเด็นเชลยศึกไม่ได้ถูกพูดถึงแม้แต่น้อย โดยหลังจากที่เกาหลีเหนือปล่อยนักโทษเพียง 8,000 คน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับว่า การมีอยู่ของเชลยศึกสงครามยังคงมีอยู่

ลีบอกว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาอันสิ้นหวังของเขา โดยเขาคิดว่าหนทางเดียวที่เขาจะสามารถกลับบ้านได้คือการหนี ทั้งนี้ 3 วันหลังจากลูกชายคนเดียวของเขาเสียชีวิตในอุบัติเหตุในเหมือง และการจากไปของภรรยาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเมื่อนานมาแล้ว ลีในอายุ 77 ปีขณะนั้นเริ่มออกเดินทาง ​​เขาแอบหนีออกจากเกาลีเหนือโดยการเดินลุยน้ำ ที่ต้องข้ามแม่น้ำไปยังประเทศจีนซึ่งมีระดับน้ำสูงถึงคอของเขา

เขาเป็นหนึ่งในนักโทษ 80 คนที่หลบหนีและสามารถกลับมาเกาหลีใต้ได้ โดยมีผู้หลบหนีเพียง 13 คนเท่านั้นที่รอดชีวิต นักโทษที่เหลืออีกนับหมื่นถูกทิ้งให้ตายในเหมือง น้อยคนนักที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าลูกๆ ของพวกเขาจะยังคงอยู่ที่นั่นก็ตาม

พ่อของ แชอาอิน เสียชีวิตลงเมื่อเธอมีอายุเพียง 6 ขวบจากเหตุก๊าซระเบิดในเหมืองในเกาหลีเหนือ หลังจากนั้น พี่สาวของเธอถูกส่งตัวไปทำงานแทนพ่อของเธอ เมื่ออยู่ที่โรงเรียน เธอถูกทุบตีและรังแกอยู่ตลอด เธอไม่เข้าใจว่าทำไมครอบครัวของเธอถึงถูกสาปส่ง ในเวลาต่อมา เธอได้ยินพี่สาวกระซิบว่า เธอรู้หรือไม่ว่าพ่อของเธอเคยเป็นทหารเกาหลีใต้

“ฉันเกลียดเขามานานแล้ว” เธอเล่า จากบ้านที่เธออยู่อาศัยในเขตชานเมืองของกรุงโซล ซึ่งเธอหนีมาถึงเกาหลีใต้ในปี 2553 “ฉันโทษว่ามันเป็นความผิดของเขา ที่ทำให้พวกเราทุกคนต้องทนทุกข์ทรมาณ”

เมื่อมีอายุ 28 ปี แชเลือกที่จะหลบหนีความเจ็บปวดในเกาหลีเหนือมาเช่นกัน โดยเธอข้ามไปที่จีนก่อน และอยู่อาศัยในจีนเป็นเวลา 10 ปี จนกระทั่งเธอเดินทางมาถึงเกาหลีใต้ ก่อนที่เธอจะได้รู้ว่าพ่อของเธอคือวีรบุรุษ “ตอนนี้ฉันเคารพเขาและพยายามอย่างมากที่จะจดจำเขา” แชกล่าว “ฉันรู้สึกแตกต่างจากผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือคนอื่นๆ เพราะฉันเป็นลูกสาวที่น่าภาคภูมิใจของทหารผ่านศึกชาวเกาหลีใต้” อย่างไรก็ดี แชไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเกาหลีใต้ว่าเป็นลูกสาวของทหารผ่านศึก ที่สละชีวิตเพื่อประเทศของตน 

ทั้งนี้ มีลูกของเชลยศึกราว 280 คน ที่สามารถหลบหนีและเดินทางไปยังเกาหลีใต้ได้ โดยอีกคนหนึ่งคือ ซนมยองฮวา ประธานสมาคมครอบครัวเชลยศึกแห่งสงครามเกาหลี ซึ่งกำลังต่อสู้ในนามของเหล่าเชลยศึก “ลูกของเหล่าเชลยศึกในเกาหลีเหนือ ต้องทนทุกข์ทรมานจากความรู้สึกผิดจากการคบหาสมาคม แต่ในเกาหลีใต้เราไม่ได้รับการยอมรับ เราต้องการได้รับความเคารพแบบเดียว กับที่ครอบครัวของทหารผ่านศึกคนอื่นๆ ได้รับ” ซนกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า พวกเขาไม่มีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทของทหารผ่านศึก

เมื่อลีกลับถึงบ้าน เขาเองก็แก่ตัวเสียแล้ว และพ่อ แม่ ตลอดจนน้องชายของได้เขาเสียชีวิตไปหมเแล้ว แม้ว่าเกาหลีใต้จะเปลี่ยนไปจนเขาจำไม่ได้ แต่น้องสาวของลีได้พาเขามายืนอยู่บนผืนดินอันเป็นเมืองบ้านเกิดของเขา

ลีจำได้ว่าเพื่อนที่กำลังจะตายในเกาหลีเหนือขอให้ลูกๆ ของพวกเขาฝังศพพวกเขาในบ้านเกิดของพวกเขา  ความปรารถนาของพวกเขายังไม่ได้รับตอบสนอง และความไม่สงบสุขระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ส่งผลให้ครอบครัวของพวกเขาต้องดิ้นรนหาความสงบสุขด้วยตัวเอง

ทั้งลีและแชยังคงฝันถึงการรวมชาติเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เข้าด้วยกัน โดยแชต้องการนำศพพ่อของเธอกลับมาฝังในเกาหลีใต้

สำหรับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สันติภาพและการรวมชาติยังคงเป็นเป้าหมายที่ระบุไว้อย่างเป็นทางการ ทว่า 70 ปีหลังการสงบศึก ความฝันนี้ดูห่างไกลมากขึ้นทุกที

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-66312530

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่