หน้าแรก Voice TV 'ก้าวไกล' เป็นห่วงนโยบายพักหนี้เกษตรกร ยังขาดความยั่งยืน เสนอรัฐบาลมุ่งปรับโครงสร้างหนี้

'ก้าวไกล' เป็นห่วงนโยบายพักหนี้เกษตรกร ยังขาดความยั่งยืน เสนอรัฐบาลมุ่งปรับโครงสร้างหนี้

86
0
'ก้าวไกล'-เป็นห่วงนโยบายพักหนี้เกษตรกร-ยังขาดความยั่งยืน-เสนอรัฐบาลมุ่งปรับโครงสร้างหนี้

‘ก้าวไกล’ เป็นห่วงนโยบายพักหนี้เกษตรกร ยังขาดความยั่งยืน เสนอรัฐบาลมุ่งปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย เปิดโอกาสลูกหนี้เจรจาคืนที่ดินขายทอดตลาดได้

วันที่ 27 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา กรุณพล เทียนสุวรรณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พักหนี้เกษตรกร 3 ปี โดยระบุว่า ไม่ได้ต่อต้าน และเห็นด้วยกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้ได้มีโอกาสในการเริ่มชีวิตใหม่ 

กรุณพล ระบุว่า พรรคก้าวไกล เองเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่ต่างกับรัฐบาลเช่นกันและเห็นว่าการที่รัฐบาลรีบออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเรื่องดีที่ไม่ควรชักช้า 

แต่พรรคก้าวไกล มีความกังวลกับมาตรกรดังกล่าวเพราะการพักหนี้ครั้งนี้ ช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่มีหนี้สินรวมกันของ ธกส. ไม่เกิน 3 แสนบาท ทำให้เกษตรกรเข้าร่วมได้เพียง 2.69 ล้านคนจาก 4.8 ล้านรายที่เป็นหนี้ ธกส. ซึ่งแปลว่าเกษตรกรอีกประมาณ ​40% ที่มีหนี้กับ ธกส. ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ทั้งๆที่อาจจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้เรื้อรัง และหนี้เสียที่สร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรไม่ต่างกัน หรือบางรายอาจมีความเสี่ยงมากกว่าด้วยซ้ำ

“เราทราบดีว่าการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรนั้น จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้มีโอกาสในการชำระหนี้และมีเงินสำหรับลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่จากอดีตที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 10 ปีเรามีนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรมามากกว่า 13 โครงการ หากการพักหนี้สามารถแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้จริงเราคงสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้มาหลายปีโดยไม่เสียงบประมาณไปเปล่าๆหลายแสนล้าน แต่หนี้ของเกษตรกรกลับเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่ง”

จากงานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักและของพรรคก้าวไกลเองได้ผลลัพธ์ตรงกันว่าการพักชำระหนี้ไม่ได้ช่วยลดมูลหนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่กลับเพิ่มปริมาณหนี้ให้กับเกษตรกรเมื่อโครงการสิ้นสุดลง ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการสนับสนุนด้านการเงินเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีการวางแผนในการสร้างงาน สร้างรายได้ และการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างเป็นระบบ

การให้งบประมาณ พัฒนาศักยภาพเกษตรกรจำนวน 1000 ล้านบาทเพื่อให้เกษตรกร 300,000 คนได้มีความรู้ทางด้านการเกษตรที่มากขึ้นพรรคก้าวไกลยังมองไม่เห็นตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าการใช้เงินหลักพันล้าน นอกจากจะเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างไรเนื่องจากปัญหาหลักของเกษตรกรในปัจจุบันนี้คือ

1.ปัญหาปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นมากหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซียยูเครน

2.ตลาดในการกระจายสินค้าอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มทุนจากนอกประเทศทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะทำการตลาดได้ด้วยตัวเอง

3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรเนื่องจากคนหนุ่มสาวหันเข้าทำงานในตัวเมืองใหญ่เหลือ ทิ้งไว้เพียงผู้สูงอายุุที่ยังคงทำการเกษตรแบบเก่า แม้จะมีบางส่วนหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ก็เป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ

4. ปัญหาพื้นที่ชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเนื่องจากภาวะเอลนีโญที่ทำให้หลายพื้นที่ทางการเกษตรต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำ และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานก่อนจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต

5. ปัญหาการเข้าถึงความรู้ทางการเกษตร และการลงทุนทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยข้อจำกัดนานาประการ เช่น ไม่มีแหล่งทุน ไม่มีแหล่งน้ำ และไม่มีผู้ให้คำแนะนำ/ช่วยเหลือและติดตามที่เชื่อถือได้ 

6. การขาดผู้ให้คำแนะนำในด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สินสำหรับเกษตรกรเฉพาะราย (ซึ่งมีลักษณะ/เงื่อนไขที่แตกต่างกัน) และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะเวลาชำระคืนยาวเพียงพอที่จะปรับโครงสร้างการผลิตของตนได้

7. การขาดการวางแผนของภาครัฐในการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแข่งขันในตลาดโลก

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นปัญหาหลักๆที่เราได้มองเห็นว่าเหตุใดเกษตรกรจึงยังคงมีหนี้สะสมจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามแนวทางของรัฐบาลสำหรับพรรคก้าวไกลมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่มีข้อน่ากังวลและมีช่องโหว่ในหลายจุดที่เราเห็นว่าอาจจะทำให้งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาทที่จะใช้ตลอดระยะเวลาสามปีเมื่อสิ้นสุดโครงการอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแบบยั่งยืนแต่เป็นการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก

พรรคก้าวไกลจึงขอฝากคำแนะนำ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไปยังรัฐบาลดังนี้

1. เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนตัวชี้วัดเป้าหมายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จากการเน้นนำรายได้ส่งเข้าคลัง มาเป็นการมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ และการปรับลดปลดหนี้สินของเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง

2. การชำระหนี้ของเกษตรกรนั้นจะต้องนำไปตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ใช่การหักเพียงดอกเบี้ยแต่เงินต้นคงเดิมเช่นที่ผ่านมา ซึ่งในข้อนี้ก็อยู่ในมาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศออกมา และถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และ ธกส. ควรถือปฏิบัติต่อไป ไม่ใช่เฉพาะกับผู้เข้าร่วมโครงการนี้ และรัฐบาลควรให้สหกรณ์การเกษตรอื่นๆ ถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรลูกหนี้

3. รัฐบาลควรเสนอแนวทางเลือกในการปรับลดปลดหนี้ให้เกษตรกร โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง ขยายเวลาชำระคืนให้นานยิ่งขึ้น หรือมีมาตรการในการคืนดอกเบี้ยที่เกษตรกรชำระบางส่วน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรนำไปปรับปรุงโครงสร้างการผลิต

4. สำหรับเกษตรกรที่มีหนี้สินสะสมมาก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้วยคุณภาพตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการรับซื้อหนี้ของเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้เกษตรกรลูกหนี้ที่แม้สินทรัพย์กำลังถูกขายทอดตลาด หรือขายไปแล้วยังสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอเช่าใช้ทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ หรือเช่าซื้อที่ดินกลับคืนมา

5. รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเกษตรเป็นเพิ่มศักยภาพทางด้านการจัดการทางด้านการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกร โดยมีแนวทางและคำตอบที่ชัดเจนสำหรับเกษตรกรแต่ละราย เพื่อให้เข้าใจการบริหารจัดการหนี้อย่างถูกต้อง และสามารถเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินได้ทันที

6. เพิ่มทางเลือกในแง่อาชีพ หรือแหล่งรายได้เสริมให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองและมีหนี้สินมากเกินกว่าจะชำระได้ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้สูงอายุ เช่น การเพาะกล้าไม้ หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และทางเลือกในการจัดการทรัพย์สินของเกษตรกรผู้สูงอายุ เช่น เกษตรกรที่มีที่ดินแต่ไม่ได้ทำการเกษตรต่อไป ภาครัฐอาจเป็นคนกลางในการนำที่ดินมาให้เกษตรกรรุ่นใหม่เช่าใช้ประโยชน์ หรือลงทุนหรือเช่าเพื่อปลูกไม่ยืนต้นมูลค่าสูง ที่จะสามารถนำมาเป็นมูลค่าในการชำระหนี้สิน/เงินออมสำหรับเกษตรกรในอนาคต

“เราเชื่อว่านโยบายที่รัฐบาลออกมาแม้จะออกมาด้วยความหวังดีต่อเกษตรกร แต่ยังเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอ และไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรที่สูงอายุที่มีหนี้สินสะสมมากกว่ารายได้หลายเท่าตัวซึ่งมีมากถึง 1.4 ล้านคน แปลว่าเมื่อพ้นระยะเวลาในการพักชำระหนี้ หนี้สินทั้งหมดก็จะกลับมาพอกพูนและกดดันเกษตรกรเหมือนเดิม” กรุณพล กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่