หน้าแรก Voice TV ครบแล้ว! BKK Food Bank ทั้ง 50 เขต ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางกว่า 2 ล้านมื้อ ลดอาหารเหลือทิ้ง 4.8...

ครบแล้ว! BKK Food Bank ทั้ง 50 เขต ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางกว่า 2 ล้านมื้อ ลดอาหารเหลือทิ้ง 4.8 แสนกก.

68
0
ครบแล้ว!-bkk-food-bank-ทั้ง-50-เขต-ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางกว่า-2-ล้านมื้อ-ลดอาหารเหลือทิ้ง-48-แสนกก.
ครบแล้ว! BKK Food Bank ทั้ง 50 เขต ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางกว่า 2 ล้านมื้อ ลดอาหารเหลือทิ้ง 4.8 แสนกก.

9.9 ครบแล้วศูนย์ BKK Food Bank ทั้ง 50 เขต ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางแล้วกว่า 2 ล้านมื้อ ลดอาหารเหลือทิ้ง 4.8 แสนกก. ลดคาร์บอนได้กว่า 1 ล้าน กก.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอาหาร หรือศูนย์ BKK Food Bank แห่งที่ 50 วันนี้ (9 ก.ย. 2567) โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตสะพานสูง ภาคเอกชนผู้ให้การสนับสนุน ตัวแทนประชาชนกลุ่มเปราะบาง ร่วมพิธีเปิด ณ สำนักงานเขตสะพานสูง

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้โครงการ BKK Food Bank เปิดครบ 50 เขต แล้วที่เขตสะพานสูง โดยเป็นจุดที่เราใช้รวบรวมของบริจาคจากประชาชนที่อยากแบ่งปัน กทม. ทำหน้าที่ส่งต่อของเหล่านี้ให้กลุ่มเปราะบาง ปัจจุบันมีกลุ่มเปราะบางอยู่ในรายชื่อประมาณ 23,000 คน แจกไปแล้วเกือบ 6,000 คน คิดว่าจากความช่วยเหลือของประชาชนจะทำให้เราแจกได้ครบและหมุนวนรอบต่อไป

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า หลักการของโครงการนี้คือการแบ่งปัน เพราะเชื่อว่ากรุงเทพมหานครมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับทุกคน แต่อาจจะอยู่ที่คนใดคนหนึ่งเยอะส่วนบางคนขาด ซึ่งเราสามารถเป็นตัวกลางได้ เราเคยเห็นโครงการเหล่านี้ในหลายประเทศทั่วโลก เชื่อว่าอนาคตทั่วโลกต้องมาดูงานที่กรุงเทพฯ โดยหลักการคือจะมีแต้มให้กลุ่มเปราะบางใช้แลกของสามารถมาเดินเลือกของได้อย่างมีศักดิ์ศรี และนอกจากของแห้งแล้วอีกรูปแบบคืออาหารสดที่ยังไม่หมดอายุแต่ไม่สามารถขายได้ที่จะรับโดยตรงจากผู้บริจาค ที่ผ่านมารับบริจาคแล้วประมาณ 2 ล้านมื้อ เกือบ 5 แสนกิโลกรัม เป็นการลด food waste หรือขยะอาหารด้วย สำหรับความยั่งยืนของโครงการคือต้องทำให้ประชาชนเชื่อใจเรา สร้างความไว้วางใจว่าของที่บริจาคถึงมือกลุ่มเปราะบางจริง ๆ มีการทำบัญชี ให้ประชนมาเป็นส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบ หากได้ความเชื่อใจประชาชนจะหมุนเวียนเข้ามาบริจาค โครงการนี้จะอยู่ได้ต่อไปไม่เกี่ยวกับตัวผู้ว่าฯ แล้ว เพราะ Bkk Food Bank ไม่มีคำว่าชัชชาติอยู่เลย เป็นผลงานของเขต ของคนที่มาบริจาค

S__35004443.jpg

“ต่อไปหากใครอยากช่วยเหลือผู้ที่ลำบาก วันที่อยากแบ่งปัน วันที่คิดถึงคนที่ยากลำบากกว่าเรา แวะนำของมาบริจาคที่สำนักงานเขตได้เลย เราจะทำหน้าที่เป็นสะพานบุญกับผู้ที่ขาดแคลน ขอบคุณทุกท่านที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงครบ 50 เขต ตามที่วางแผนไว้นับตั้งแต่วันที่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ตกงาน รวมถึงผู้ประสบภัย ที่ยังขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และถูกทิ้งเป็นขยะทุกวัน และขยะที่มาจากอาหารคิดเป็น 50% ของขยะทั้งหมด กทม.จึงจัดทำโครงการ BKK Food Bank ธนาคารอาหารขึ้น โดยเป็นตัวกลางในการรวบรวมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค จากผู้ที่อยากแบ่งปันเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน โดยจัดเป็นที่เก็บของคล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อ และให้กลุ่มผู้เปราะบางที่อยู่ในฐานข้อมูลของแต่ละเขตมาเลือกของที่ต้องการ เช่น ข้าวสาร ไข่ น้ำปลา น้ำตาล เสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำแต้มที่เขตมอบให้มาแลกของที่ต้องการ

วันนี้ได้เปิดครบแล้วทั้ง 50 เขต หลังจากได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ตุลาคม 2565 โดยเขตล่าสุด คือ เขตสะพานสูง นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว สำนักงานเขตยังมีการรับ – ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จาก “ผู้บริจาค ตรงสู่ ผู้รับ” ในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยจะรับอาหารส่วนเกินจากผู้บริจาค สัปดาห์ละ 3 วัน (ทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี) และส่งตรงถึงมือผู้รับ เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน ประชาชน ศาสนสถาน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ที่เป็นผู้บริจาค ซึ่งผู้ประสงค์จะบริจาคของให้กับ BKK Food Bank สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต

ณ ปัจจุบัน BKK Food Bank สามารถส่งต่ออาหารบริจาคได้ 488,227.29 กิโลกรัม หรือนับเป็นมื้อได้ 2,050,554.61มื้อ ถึงมือผู้รับซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางแล้ว รวม 5,330 ราย จากข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้ 23,476 ราย กลุ่มที่เข้ามารับบริการมากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุ 36% ประชาชนผู้มีรายได้น้อย 33% เด็ก 12% ผู้ด้อยโอกาส 6% คนพิการ 5%  เด็กในศูนย์เด็กเล็กฯ 4% ผู้ป่วยติดเตียง 3% และคนไร้บ้าน 1% ประเภทอาหารที่มีน้ำหนักมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เบเกอรี่ 312,023.91 กก. อาหารปรุงสุกพร้อมทาน 34,664.62 กก. ข้าว 32,604.6 กก. ผักและผลไม้ 16,981.9 กก. น้ำเปล่า 14,552.21 กก. คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ 1,235,215.04 กิโลCO2e 

S__35004444.jpg

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่