หน้าแรก Thai PBS ย่นระยะศึกษา ท่องหาประสบการณ์ใหม่ แนวคิดใหม่ “โภคิน พลกุล”

ย่นระยะศึกษา ท่องหาประสบการณ์ใหม่ แนวคิดใหม่ “โภคิน พลกุล”

7
0
ย่นระยะศึกษา-ท่องหาประสบการณ์ใหม่-แนวคิดใหม่-“โภคิน-พลกุล”
ย่นระยะศึกษา ท่องหาประสบการณ์ใหม่ แนวคิดใหม่ “โภคิน พลกุล”

คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถตอบโจทย์ประเทศได้หรือไม่… และจะส่งผลต่อการพัฒนาการเมืองไทยให้ถึงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ได้จริงหรือ หากเทียบกับความเปลี่ยนไปของโลก และจะต้องเดินหน้าต่ออย่างไร…

“รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น” นัดพูดคุย “รศ. ดร.โภคิน พลกุล” อดีตวิชาการและนักการเมือง ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านมุมมองทางการเมือง สังคม กฎหมาย ที่เจาะลึกทุกองคาพยพ พร้อมกับแนวคิดที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนไปที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโลก

“รศ.ดร.โภคิน พลกุล” เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด และนักวิชาการ ในวัย 72 ปี ยังมีความมุ่งมั่นและหลักคิดที่อยากจะปลุกกระแสของทุกฝ่ายเพื่อสร้างสังคม

ประเดิมด้วยคำถามเปิดประเด็น คือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประชาธิป ไตย? จะป้องกันให้ไม่เกิดรัฐประหารได้อย่างไร? เพราะจนถึงวันนี้ประเทศไทยก็ยังไม่ก้าวผ่าน

“รศ.โภคิน” มองว่า การรัฐประหารทำให้ประเทศไทยสะดุดติดขัดมานาน กระทั่งคนรุ่นใหม่กำลังเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้จากประสบการณ์ว่าจะดีหรือไม่ดีได้ด้วยตัวเองเพื่อจะเปลี่ยนแปลงไปสู่คนรุ่นหลัง แต่กลับถูกปิดกั้นจากคนอีกกลุ่มมองว่าประชาชนเป็นคนที่ไม่รู้เรื่อง

เฉกเช่นความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยึดอำนาจ ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้พรรคใหญ่ชนะเลือกตั้ง และเอื้อต่อพรรคเล็กพรรค และทำให้เกิดความขัดแย้งของบ้านเมือง แต่ดูเหมือนว่า แม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยขั้นตอนที่ต้องทำประชามติหลายครั้ง แตกต่างจากในอดีตที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการทำประชามติเพียงแค่ครั้งเดียว รวมทั้งปัจจุบันยังมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่ทำให้ยังไม่สามารถเดินต่อไปได้

“กลไกทุกวันนี้ มีการเขียนให้แก้รัฐธรรมนูญแทบจะทำไม่ได้เลย ด้วยเสียงข้างน้อยเป็นคนกำหนดว่าจะแก้ได้หรือไม่ได้ พอเป็นแบบนี้แม้จะแก้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ต้องไปถามประชามติ แก้อำนาจหน้าที่ศาล อำนาจหน้าที่อะไรต่าง ๆ ที่จะต้องไปถามประชามติหมด สมมติมีประชากรที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 52 ล้านคน เราก็ต้องได้ครึ่งหนึ่ง บวกอีกหนึ่งคน ซึ่งเอาว่าคนนอนอยู่บ้านคือคนที่ไม่เห็นด้วย ดังนั้นถ้าจะรณรงค์ไม่ให้คนไปผ่าน เช่นนั้นก็ไปบอกใครที่ไม่เห็นด้วยไม่ต้องมาออกเสียง นอนอยู่บ้านไป มันก็ไม่มีทางถึงเกินครึ่งนึง บวกหนึ่งคน”

พอคุยกันไปมาเพื่อหาข้อยุติ ก็วนมาเข้าเรื่องนิรโทษกรรม เรื่อง 112 ปะปนกันไปหมดกระทั่งกลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ทำให้เกิดปัญหาอีก สุดท้ายก็กลายเป็นโครงการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทำให้มองเห็นภาพว่าการเมืองของเรายังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับจะต้องเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่อย่างนั้นเส้นทางที่จะไปถึงเป้าหมายก็จะไม่ชัดเจน

“อย่างแรกต้องมองว่าเป้าหมายก็คือคนไทยทุกคน ตั้งแต่เด็กในครรภ์ จนคนสูงวัย รัฐต้องดูแล ให้เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ แต่เขาจะมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร เพราะเขาก็ต้องคิดว่า พรุ่งนี้มีกินไหม ลูกเข้าโรงเรียนมีชุดให้ไหม ไม่ใช่รอแบมือจากรัฐบาลมาให้ มันจะมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร”

รศ.ดร.โภคิน มีความเห็นส่วนตัวว่าประเทศไทยจะต้องปรับนโนบายใหม่เพื่อดูแลตั้งแต่เด็กที่อยู่ในครรภ์ รวมถึงการย่นระยะการศึกษาให้น้อยลง จากที่จบมหาวิทยาในอายุ 20-21 ปี ก็อาจจะลดหลักสูตรเรียนให้จบระดับปริญญาตรีอายุ 17-18 ปี เพื่อให้เวลาไปหาประสบการณ์มากขึ้น ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันความรู้สามารถหาได้จากทุกที่ด้วยความที่โลกพัฒนามาสู่เทคโนโลยี

“เราก็ปรับปรุงหลักสูตร เน้นเรื่องของประสบการณ์ เน้นการทำงานต่าง ๆ ให้มาก บวกกับวิชาการ 50-50 เลยก็ได้ ขณะที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย มองว่าไม่จำเป็นจะต้องไปเรียนถึง 5 วัน เพราะเรียนออนไลน์ได้ ข้อดีจะทำให้เด็ก ๆ สามารถช่วยพ่อแม่ได้ อีกทั้งยังได้ประสบการณ์การทำงาน มากกว่าที่จะเอาเงินไปแจก ยิ่งตอกย้ำความจนเขา สุดท้ายปัญหาก็วนไม่มีที่สิ้นสุด”

“ยิ่งบังคับ สร้างกฎเกณฑ์ ที่ทุกคนไม่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อเอาไว้เล่นงานคนใดคนหนึ่ง มันก็ยิ่งตอกย้ำความไม่เป็นธรรม ตอกย้ำสิ่งที่เป็นปัญหาตลอด แต่ไม่ใช่แปลว่า ไม่ต้องมี มันต้องมีอยู่แล้ว แต่เวลาคุณมีอำนาจคุณก็ปล่อยให้คนไม่มีจริยธรรมมาบริหาร พอวันนี้มันก็ย้อนกลับมา ก็กลายเป็นว่าไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าไม่รู้ต้องทำอะไรกันแล้ว”

รศ.โภคิน มองว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม การเมืองเดินไปข้างหน้าได้ สิ่งสำคัญคือการอยู่ด้วยกันให้แหมือนพี่น้อง มีความอาทร ทำงานเป็นทีม มีเป้าหมายที่จะไปด้วยกัน ไม่เช่นนั้นมันจะยิ่งทำให้สังคมเห็นแก่ตัวจนเกิดการคอรัปชั่น

ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จริง ๆ เพียงแค่ 4 อย่างก็ทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้แล้ว คือ อาหาร – สุขภาพ – ท่องเที่ยว – ใช้โลเคชั่นของประเทศให้เป็นประโยชน์ ไม่จำเป็นจะต้องเป็น 10-20 ปีก็ได้ เอาแค่ประโยชน์เฉพาะหน้าไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกก็เพียงพอ

อะไรที่จะทำไปขายโลก ก็ต้องดูว่า โลกเขาอยู่ตรงไหนเขาต้องการอะไร คุณจะพรีเซนต์ยังไง ถามว่าคุณมีวิจัยตรงนี้ไหม การทดลองตรงนี้ไหม คุณต้องสร้างขึ้นมา ไทยเรามีซอฟพาวเวอร์เยอะ แต่เรากลับไม่นำมาใช้

สอดคล้องกับสร้างศักยภาพด้านอาชีพให้กับประชาชน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันกับดักรายได้ปานกลาง มากกว่าการแจกเงิน เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าคนเป็นทาสหนี้นอกระบบ ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทยแต่เป็นทั้งโลก มีงานวิจัยพบว่าคนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอี กว่าร้อยละ 90 เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะไม่มีหลักประกันให้กับธนาคาร ดังนั้นจึงต้องมีระบบการเงินของรัฐที่เข้าไปช่วยสนับสนุน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่เขาจะต้องใช้คืนในดอกเบี้ยที่ต่ำ

เฉกเช่นเดียวกับกฎหมายบางข้อที่ทำให้เกิดความยุ่งยากก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับสังคมปัจจุบัน แต่หากยังไม่สามารถแก้ได้ก็ต้องแขวนไว้ก่อน เพื่อความคล่องตัว มากกว่าการที่จะมาคัดคานกันจนไม่สามารถเดินต่อไปได้

“ถ้าถามว่าแนวคิดของผมจะเกิดขึ้นได้ไหม เชื่อว่าเกิดได้หากทุกคนมองเป้าหมายไปที่ประชาชน และช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก แต่หากหวังเพียงจะแจกเงิน เพื่อหวังให้ลงคะแนนให้ครั้งต่อไป ประเทศก็จะวนกลับที่เดิม และจมปลักไปเรื่อย ๆ”

พบกับ : รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว

เช็กวันหยุดยาว! ครม.เคาะวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ 3 วัน

เปิดฉาก COP 29 “ภูมิอากาศ” เงิน เงิน เงิน กับโลกหนาว ๆ ร้อน ๆ

“ทรัมป์” เดินหน้าจัดการผู้อพยพให้ “ทอม โฮแมน” คุมพรมแดนสหรัฐฯ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่