พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

“เพื่อไทย” รับข้อเรียกร้องวิทยุชุมชน แก้ไข กม.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่

วันนี้ (2 ธ.ค.2565) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ​​​ นายสุทิน คลังแสง​​​ ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ ประธานคณะทำงานวิทยุชุมชนพรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวรับข้อเรียกร้องจากเครือข่ายวิทยุชุมชน รวม 3,967 สถานี

ขอให้พรรคเพื่อไทยแก้กฎหมายยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่วิทยุภาคประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศเมื่อเดือนมิ.ย.2564 ในการเปลี่ยนผ่านการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (วิทยุชุมชน) ไปสู่ระบบการอนุญาตแบบประมูล โดยให้ออกอากาศถึงวันที่ 3 เม.ย.2565 , ยกเลิกสถานะจาก “ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน” มาเป็น “ผู้ทดลองออกอากาศ” และขอให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ เอฟ.เอ็ม กำลังส่งต่ำ (50 วัตต์) จากเดิมที่ใช้กำลังส่ง 500 วัตต์

นายวรพจน์ ลัภโต ผู้แทน องค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนถือว่าเป็นสื่ออีกแขนงหนึ่ง และเป็นประชาชนในท้องถิ่น มีทุนทรัพย์น้อย

หากต้องดำเนินการตามประกาศของ กสทช.คงไม่มีโอกาสชนะการประมูลคลื่นวิทยุชุมชนอยู่แล้ว ระบบการประมูลทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่มีโอกาสที่จะชนะการประมูล เพราะตามหลักการของการผู้ประมูล ผู้ที่ให้ราคาสูงจะเป็นผู้ชนะ

ดังนั้นถือเป็นระบบที่เอื้อนายทุนรายใหญ่ จึงได้ขอให้พรรคเพื่อไทยยกร่างแก้ไขกฎหมาย และร่างแก้ไของค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ผลักดันเข้าสู่การกระบวนการทางสภาแล้ว พร้อมเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ดำเนินการตามข้อเสนอ 4 ข้อดังนี้

1.ขอให้พรรคเพื่อไทย กำหนดให้การมีอยู่ของวิทยุชุมชนโดยผู้ประกอบการรายเล็กเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค เพื่อให้ให้ได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนระดับท้องถิ่นต่อไป

2.ขอให้พรรคเพื่อไทยผลักดันการแก้ไขกฎหมายประมูลคลื่นความถี่วิทยุชุมชนซึ่งไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายเล็ก

3.ขอให้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพจัดตั้งสมาคมวิทยุกระจายเสียงเพื่อประชาชน เพื่อให้เกิดความอิสระต่อการประกอบกิจการ และยังคงไว้ซึ่งการสื่อสารมวลชนระดับท้องถิ่น

4.ขอให้พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งคณะทำงานศึกษากฎหมายด้านอาหารและยา ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการออกอากาศของวิทยุชุมชน

ทั้งนี้ กสทช.ยังได้ประกาศมายังผู้ประกอบการวิทยุชุมชนว่าจะมีการเรียกคืนคลื่นวิทยุชุมชนก่อนกำหนดเดิม 6 เดือน จากเดิมจะหมดลงในปี 2567 ด้วย ซึ่งถือเป็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่ผู้ประกอบการเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของทุกจังหวัด

หลังจากพรรคเพื่อไทยได้รับข้อเสนอจากผู้ประกอบการแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ จึงได้จัดทำร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ เพื่อให้สถานะของผู้ประกอบการวิทยุชุมชนยังคงอยู่

รวมถึงได้นำเสนอต่อประธานสภาแล้วแต่ยังไม่ได้รับการลงนามจากนายกฯให้หารือในสภา จึงใช้กลไกตั้งกระทู้ถามสด เพื่อสอบถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้เลื่อนการดำเนินการตามประกาศของ กสทช.ในปี 2567 แล้ว

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ ถือเป็นหลักการของสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารไปถึงมวลชนและเป็นอาชีพ วิทยุชุมชนเป็นผู้สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างอัตลักษณของชุมชนได้ เป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่สอดคล้องกับแนวทางของพรรค

หากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภา พรรคเพื่อไทยขอรับไว้พิจารณา ซึ่งความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเราใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำสิ่งเหล่านั้นมาขับเคลื่อนต่อไป

นายสุทิน คลังแสง​​​ ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะทำงานด้านนโยบายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พรรคเพื่อไทย การยกเลิกวิทยุชุมชนมีมติของความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะการรับรู้ข่าวสารเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนต้องได้เข้าถึงและเท่าเทียม ปัญหาที่เกิดคือการริดรอนในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน พรรคเพื่อไทยซึ่งมีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ไม่มีเหตุผลที่จะไม่สนับสนุนการมีอยู่ของวิทยุชุมชน

นายสุทิน ระบุ เคยเป็นนักจัดรายการ เคยเป็นเจ้าของวิทยุชุมชนมาก่อน คลื่นความถี่เป็นสมบัติที่แย่งกันมากในสังคมทุนนิยม ถ้าจัดให้มีการประมูล เรารู้คำตอบอยู่แล้วว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร

ถ้าหัวใจพรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน เราต้องทำอยู่แล้ว แต่ถ้าหัวใจเพื่อนายทุน เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตวิทยุชุมชนจะเป็นอย่างไร

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More