พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

“มนพร” สั่งการท่าเรือเร่งดันท่าเรือกรุงเทพรองรับเรือสำราญ

วันนี้ (17 ต.ค.66) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คมนาคม) เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม บริเวณอาคารอำนวยการ หรือ อาคาร OB ท่าเรือกรุงเทพ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจุดนี้มีแผนจะใช้พัฒนาเป็นท่าเทียบเรือท่องเที่ยว โดยระบุว่า ได้สั่งการให้พิจารณาการพัฒนาท่าเทียบเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 6,000 คน

รวมถึงการก่อสร้างที่พักคอย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อตอบรับความต้องการในการท่องเที่ยวทางน้ำมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากในปัจจุบันเรือสำราญได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือจาก 30 ลำ เพิ่มขึ้นเป็น 60 ลำ

สำหรับท่าเรือกรุงเทพ ขณะนี้เรือสำราญล่องผ่านร่องน้ำเจ้าพระยา เริ่มกลับมาในปี 2566 แล้ว 1 – 2 ลำ จากช่วงก่อนโควิด-19 มีประมาณ 10 กว่าลำ ปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 1,000 – 2,000 คน จึงต้องเตรียมความพร้อม รวมถึงประสานกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และ กรมศุลกากร

ทั้งนี้ เพื่อรองรับและเพิ่มทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำกับทางถนนเข้าเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือการท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริป (One Day Trip) คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปี 2567

นอกจากนี้ นางมนพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้ผลักดันโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพฯ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) แบ่งเป็น กทท.ลงทุนร้อยละ 50 และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร้อยละ 50 คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2567 เพื่อลดผลกระทบปัญหาจราจรระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับการจราจรบนท้องถนนในเขต กทม. และปริมณฑล

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า สำหรับโครงการเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ-S1 ผ่านการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) และผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ก่อนที่ กทพ.จะเป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูล คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 2/2567 และเริ่มก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570

นอกจากนี้ กทท.ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับชุมชนท่าเรือคลองเตย จำนวน 101 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ-S1 เพื่อเสนอทางเลือก ตามโครงการ Smart Community ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเจรจาไว้ 3 แนวทางเลือก คือ 1.ให้ย้ายไปอาศัยในอาคารที่ กทท.เตรียมสร้างในรูปแบบคอนโด 2.ย้ายไปอยู่บริเวณที่ดินย่านหนองจอก และ 3.การให้เงินชดเชย อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น ขณะนี้ กทท.ได้ส่งมอบงานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1), พื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) คาดว่า จะส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 ม.ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาได้ภายในกลางปี 2567

ขณะที่ส่วนที่ 2 งานจ้างเหมา ก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาทนั้น อยู่ในขั้นตอนจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา ครั้งที่ 2 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 หลังจากครั้งที่ 1 มีผู้ยื่นเสนอเอกสารการประมูลรายเดียว ในส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนงานที่ 4 งานติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนการออกแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในปี 2567

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 ของ กทท.นััน มีรายได้ 15,000 – 16,000 ล้านบาท มีผลกำไร 6,890 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 72 ปีนับตั้งแต่เปิดการดำเนินการ และตั้งเป้าหมายในปี 2567 จะมีรายได้แตะ 7 พันล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือในปี 2566 นั้น ท่าเรือกรุงเทพ มีตู้สินค้าผ่านท่า 8.5 ล้าน ที.อี.ยู. ขณะที่ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีตู้สินค้าผ่านท่า 1.2-1.3 ล้าน ที.อี.ยู.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาซ้อมหนีไฟเสมือนจริง “มนพร” ตอบกระทู้จนจบ  

“มนพร” รมช.คมนาคม เปิดบัญชีต่อ ป.ป.ช. มีทรัพย์สิน 6,819 บาท  

“มนพร” จี้กรมเจ้าท่าเร่งเบิกจ่ายงบฯ ปี 66 ค้างท่อ 1.6 พันล้าน  

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More