พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'ยุทธพร' เสนอแนวทางนิรโทษฯ กมธ.ใหญ่ม.112 กำลังหารือ คาดได้ข้อสรุปเข้าสภา ก.ค.

‘ปธ.อนุฯนิรโทษกรรม’ เปิด 4 ไทม์ไลน์ม็อบใหญ่ กาง 3 แนวทางเลือกจำแนกฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองแบบชัดเจน-ไม่ชัดเจน ชง ‘กรรมาธิการชุดใหญ่’ เคาะคาดได้ถกในสภาฯ ช่วง ก.ค. รับ ‘มาตรา112’ ยังไร้ข้อสรุป อยู่ระหว่างหารือ

วันที่ 2 พ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ศึกษา และจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการหารือในคณะอนุกมธ.ฯ เพื่อจำแนกคดีที่มีฐานความผิดมาจากแรงจูงใจทางการเมือง

โดย ยุทธพร กล่าวว่า ในแง่ของระยะเวลา ได้พิจารณาโดยยึดแนวทางของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูล และสถิติ ที่มี นิกร จำนง เป็นประธาน คือวันที่ 1 ม.ค.2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 20 ปี แบ่งออกเป็นอีก 4 ช่วงเวลา ดังนี้ 1.ตั้งแต่ปี 2548-2551 2.ตั้งแต่ปี 2552-2555 3.ตั้งแต่ปี 2556-2562 และ4.ตั้งแต่ ปี2563-ปัจจุบัน ซึ่งใน 4 ช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร (เสื้อเหลือง) การชุมนุมของกลุ่ม นปช.(เสื้อแดง) การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองย่อยๆ ภายในระยะเวลา20ปีที่ผ่านมา รวมถึงชุมนุมในโลกออนไลน์ ที่มีเหตุในการเข้าข้อกฎหมายด้วย

ยุทธพร กล่าวต่อว่า กระบวนการตรงนี้เราได้จำแนกเกณฑ์ต่างๆ ในการพิจารณา โดยยึดเกณฑ์ใหญ่ที่สุด คือฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งที่ชัดเจน และไม่ชัดเจน โดย 1.ฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองชัดเจน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง เชื่อมโยงคดีอาญา คดีในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือคดีในการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงบางช่วงเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายการทำประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี2560 ขณะที่ 2.ฐานความผิดฯที่ไม่ชัดเจน เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำ เช่น พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายโดยตรงเกี่ยวกับการชุมนุม แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม

“เมื่อจำแนกออกมาเป็น 2 ส่วนแล้ว เราจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ในวันนี้ หลังจากนี้จะมีการประชุมคณะอนุกมธ.ฯในสัปดาห์หน้า เพื่อปรับแก้ตามความคิดเห็นของ กมธ.ชุดใหญ่ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า ทางเลือกที่ 1. คือใช้กฎหมายนิรโทษกรรม ที่ยังมีความจำเป็น เพราะในกระบวนการนิรโทษกรรม ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะนำไปปฏิบัติ ก็ต้องมีฐานทางกฎหมายในการให้อำนาจหน่วยงานฯไปดำเนินการต่อไป ส่วนทางเลือกที่ 2.ฐานความผิดบางฐานอาจยังไม่มีข้อสรุป หรือข้อยุติที่ตกผลึก อาจจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมายในการดำเนินการ ขณะที่ทางเลือกที่ 3.บางฐานความผิดซึ่งดำเนินคดีไปไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ท้ายที่สุดแล้วก็อาจต้องใช้กฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ตามมาตรา 21 เพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง เช่น คดีเกี่ยวกับพ.ร.บ.จราจร และความสะอาด” ยุทธพร กล่าว

เมื่อถามว่า ทั้ง 3 ทางเลือกที่จะนิรโทษกรรมจะดำเนินการได้เมื่อไหร่ ยุทธพร กล่าวว่า การนิรโทษกรรม เป็นเรื่องของ สส. หลังจากที่ กมธ.ชุดใหญ่มีข้อสรุป คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ค.จะได้ข้อสรุป เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ทางสภาฯก็มีเอกสิทธิ์รับฟังข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมด หรือจะไม่ฟังก็ได้ หรือจะนำไปใช้บางส่วนก็ได้

เมื่อถามว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ ยุทธพร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือ ยังไม่มีข้อสรุป

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More