พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'พิธา' นำทีม สส.ระยองลงพื้นที่ รับฟังความเดือดร้อนไฟไหม้โรงงานสารเคมี

“พิธา” นำทีม สส.ระยองลงพื้นที่โรงงาน “วินโพรเสส” เปิดเวทีรับฟังผลกระทบ-ความเดือดร้อน ชาวบ้านร้อนใจขอให้ขนย้ายสารเคมีออกโดยเร็วที่สุด หวั่นน้ำบาดาลปนเปื้อนเพิ่มในฤดูฝน พิธาย้ำบริหารจัดการได้หากรัฐบาลมีเจตจำนงช่วยประชาชน พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนระบบบริหารขยะอุตสาหกรรมทั้งประเทศ

วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.ระยอง จากพรรคก้าวไกลทั้ง 5 เขต ร่วมลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีวินโพรเสส ก่อนเปิดเวทีประชาคมรับฟังปัญหาจากประชาชน และข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากองค์กรภาคประชาสังคม

โดยในช่วงเที่ยง พิธาและ สส.พรรคก้าวไกลได้ลงพื้นที่สำรวจส่วนหน้าของโรงงานวินโพรเสส ก่อนจะเดินทางไปยังสวนเกษตรที่อยู่ติดกับโรงงาน และโรงเรียนหนองพะวา เพื่อรับฟังรายละเอียดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรงงานแห่งนี้ ทั้งจากการลักลอบขนย้าย กักเก็บ และปลดปล่อยสารเคมีสู่พื้นที่รอบข้างมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี จนทำให้แหล่งน้ำและพื้นที่สวนของประชาชนเต็มไปด้วยการปนเปื้อนสารเคมี รวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อวันที่ 22 เมษายน ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักขึ้น

จากนั้นในช่วงบ่าย ที่วัดหนองพะวา พิธาและ สส.พรรคก้าวไกลได้เปิดเวทีประชาคมเพื่อพูดคุยและรับฟังปัญหาจากประชาชน โดยมีประชาชนในชุมชนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานวินโพรเสสเข้าร่วมกิจกรรมและสะท้อนปัญหาที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้ขนย้ายวัตถุอันตรายและสารเคมีออกโดยทันที การติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพ การนำผู้ปลดปล่อยมลพิษมาลงโทษและรับผิดชอบ รวมถึงข้อกังวลของโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำบาดาลไม่ได้มาเป็นเวลานานแล้ว เป็นต้น

หลังการรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต โดยระบุว่า ปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ขณะนี้คือเรื่องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งวันนี้การซึมของสารเคมีลงสู่ระดับน้ำใต้ดินแล้ว ในประเด็นนี้ตนจะอาศัยการประสานงานในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้ามาเก็บตัวอย่างเพื่อสำรวจการกระจายตัวของสารเคมี และที่สำคัญคือต้องมีการประกาศให้ประชาชนได้ทราบถึงความเสี่ยง ให้ประชาชนทุกคนรู้ว่าขณะนี้น้ำมีอันตรายในระดับใด สามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง อุปโภคบริโภคได้หรือไม่

ขณะที่ในด้านการบริหารจัดการต่อไป พูนศักดิ์กล่าวว่าต้องดำเนินการในหลายระดับ ระดับแรกคือการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ ถัดมาคือการจัดการเก็บกู้และขนย้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยมืออาชีพเข้ามาจัดการ ต้องเก็บตัวอย่างส่งเข้าห้องแล็บ ถ้าเป็นอันตรายก็ต้องถูกส่งไปกำจัดที่สถานที่จัดการของเสียอันตรายที่ได้รับการรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม หากไม่เป็นอันตรายก็จะมีช่องทางมากขึ้นในการส่งไปยังโรงงานรับกำจัดของเสียที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งรัฐควรจะต้องทุ่มงบประมาณลงมาทันทีก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง แต่ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือหลังจากที่มีการขุดลงไป จะเห็นระดับน้ำที่มีการปนเปื้อนอยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นอันตรายมาก และควรจะต้องมีงบประมาณในการฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาจัดการ โดยจากการสำรวจพื้นที่ตนมั่นใจว่าต้องมีการฝังของเสียอยู่ใต้ดินอีกแน่นอน

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน พูนศักดิ์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร เข้าสู่สภาฯ แล้ว โดยสาระสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นจะคานอำนาจกัน และมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานหยุดการดำเนินการได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่หน่วยงานท้องถิ่นด้านการควบคุมมลพิษหรือหน่วยงานใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นมาก็สามารถดำเนินการสั่งการให้หยุดได้ หากกิจการใดมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงกำหนดให้โรงงานที่รับกำจัดของเสียเช่นนี้ต้องมีการทำประกันไว้ด้วย

ในส่วนของพิธา กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่กระทบกับพี่น้องประชาชนภาคตะวันออกมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้ตนได้ลงพื้นที่โรงงานที่ไฟไหม้ ได้ไปสวนยางของประชาชนที่อยู่รอบ ๆ และได้ไปเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน ได้เห็นภาพจริง ๆ ว่ากลิ่นที่ต้องสูด น้ำที่ต้องดื่ม ผิวหนังที่คันเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นที่ระยองไม่ใช่กรณีเดียวในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับชาติที่เกิดขึ้นทุกที่ที่มีการจัดการขยะอุตสาหกรรม ผลกระทบในเรื่องนี้หนักขึ้นตั้งแต่มีการรัฐประหารและการออกคำสั่ง คสช.ให้โรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมทำได้ในทุกผังเมือง ทั้งที่ไม่ควรมีโรงงานแบบนี้อยู่ใกล้สวนยางและโรงเรียน 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างหนักหน่วงจะเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่อง “ดิน น้ำ ลม ไฟ” โดยเฉพาะหน้าในช่วงนี้คือเรื่องไฟกับน้ำ ขณะนี้เองไฟก็ยังไม่สามารถดับได้หมด แต่ก็มีอีกปัญหาเกิดขึ้นแล้วคือเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคที่ปนเปื้อน และหากเข้าสู่ฤดูฝนแล้วมีฝนตกหนักใส่บ่อสารเคมี เกิดการระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกสู่ภายนอกก็จะเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง ต้องโฟกัสเรื่องไฟและน้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้า ต้องเร่งเยียวยาผลกระทบและสุขภาพประชาชน

พิธากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดในตอนนี้คือเรื่องการขนย้าย ซึ่งต้องการให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยจากที่ได้ลงพื้นที่และศึกษาข้อมูลมา ตนเห็นว่าสามารถขนย้ายให้เร็วที่สุดภายใน 90 วันได้ แต่ก็ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาเรี่ยราดหนักกว่าเดิม ถ้าขนแบบชุ่ยก็จะยิ่งฟุ้ง ยิ่งเลอะ ประชาชนจะเดือดร้อนมากกว่าเดิม โจทย์สำคัญในเวลานี้จึงเป็นเรื่องของการขนย้ายให้ได้เร็วที่สุดและมีคุณภาพ รวมถึงต้องคิดด้วยว่าจะขนไปที่ไหนที่จะไม่กระทบคนอื่น ต้องใช้งบประมาณเท่าไร ใช้จากงบกลางได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ 

“เหลืออยู่อย่างเดียวคือเจตจำนงทางการเมืองว่าอยากช่วยประชาชนจริงหรือไม่ จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้มีความเข้าใจกระบวนการมากขึ้นได้อย่างไร ประเด็นสำคัญคือการทำบัญชีสารเคมี แยกออกมาให้ได้ว่ามีสารที่เป็นวัตถุติดไฟหรือไม่ อันตรายกับไม่อันตราย มีปฏิกิริยากับไม่มีปฏิกิริยา มีหลายรูปแบบ ถ้าวางแผนอย่างเป็นระบบก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด” พิธากล่าว

พิธากล่าวต่อไปว่า จากการทำงานเป็นผู้แทนราษฎรมา 5 ปี ตนพบว่าทุกจังหวัดมีปัญหาเช่นนี้กันหมด ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ในระยะยาวว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ทั่วประเทศไทยมีโรงงานกว่า 75,000 แห่ง กว่า 6,000 แห่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อีก 60,000 กว่าแห่งกระจายอยู่ทั่วไป ประเทศไทยผลิตกากขยะอุตสาหกรรมเฉลี่ยปีละ 40 ล้านตัน โดย 37 ล้านตันเป็นแบบไม่อันตราย อีก 3 ล้านตันเป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งแยกออกมาออกมาได้อีก 4-5 ประเภท และต้องใช้วิธีบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ประเทศจะต้องมีผู้บริหารที่เข้าใจเรื่องนี้

สุดท้าย สิ่งที่เราต้องนำไปคิดและแก้ไขคือ ขยะอุตสาหกรรมมีต้นทุนในการกำจัดต่ำกว่าค่าปรับหรือไม่ หากมีต้นทุนในการกำจัดสูงกว่า ผู้ประกอบการก็ย่อมเลือกช่องการเสียค่าปรับหรือจ่ายใต้โต๊ะแทนการจัดการอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงต้องมีการบริหารให้ต้นทุนในการจัดการมีคุณภาพและถูกลง จูงใจให้โรงงานต้องการบริหารจัดการขยะ ค่าปรับต้องสูงและเอาจริง หากทำเช่นนี้ก็จะเปลี่ยนสมการทั้งหมดได้ เพื่อให้ประเทศมีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More