แจกแจงที่มาที่ไปของระเบียบราชทัณฑ์ที่มีมาก่อน มาตรการต่างๆ เป็นประโยชน์ เชื่อมั่นราชทัณฑ์จะปฏิบัติอย่างเสมอภาค พร้อมอธิบายประวัติศาสตร์ปม ‘ทักษิณ’
นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาเพื่อไปดูชั้น 14 ถือเป็นสิทธิ การที่กลุ่มบุคคลต่างๆ หยิบยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมานั้น ตนเห็นว่าในขณะนี้บ้านเมืองต้องเดินหน้าสู่การปรองดอง สมานฉันท์ และการจะดูเรื่องใดต้องดูป่าทั้งป่า ไม่ใช่แค่ต้นไม้ต้นเดียว ซึ่งเรื่องนี้มีที่มาที่ไป ในประเด็นอดีตนายกฯ ทักษิณ ตนขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้
1. หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ซึ่งมีกรรมการที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับ ดร.ทักษิณมาสอบคดี ซึ่งขัดหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน ตนถามว่าเคยได้มีการออกไปคัดค้านการละเมิดหลักนิติธรรมนี้หรือไม่
2. กฎกระทรวงและระเบียบของกรมราชทัณฑ์เรื่องผู้ต้องขัง การพักโทษ และการเปลี่ยนสถานที่คุมขังนั้นบังคับใช้ทั่วไป ไม่ใช้กับคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และสอดคล้องหลักสากล
3. ระเบียบเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานที่คุมขัง คือระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ออกสมัยรัฐบาลที่แล้ว ตอนออกก็ไม่เห็นคนคัดค้าน ไม่เชื่อว่ารัฐบาลเก่าได้มุ่งช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เนื่องจากเป็นไปตามมาตรฐานสากล ต่างประเทศก็ทำเช่นนี้
4. เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้ากรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ จะปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดมั่นความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะระเบียบนี้ใช้กับผู้ถูกคุมขังทุกคน ไม่ว่าจะนามสกุลอะไร
“ระเบียบราชทัณฑ์ใช้กับทุกคน เราพร่ำพูดถึงหลักนิติธรรม แต่ไม่ควรใช้กับบางคนบางเวลา แต่ต้องใช้กับทุกคนตลอดเวลา และอย่าดูเฉพาะนิติธรรมที่เป็นคุณกับฝ่ายตัวเอง อดีตนายกฯได้ทำประโยชน์มากมาย เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เป็นตำนานตลอดไป ได้เวลาที่เราควรมีความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน เพื่อพาบ้านเมืองเดินหน้า ส่วนนักการเมืองก็ขอเชิญมาต่อสู้เชิงนโยบาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และแก้ปัญหาประเทศดีกว่า” นพดลกล่าว