‘ชัยธวัช’ นำ ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป ม.152 รัฐบาล เหตุเพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบาย-ปล่อยกลุ่มผู้มีอิทธิพลเอาเปรียบประชาชน ย้ำมีทุกนโยบายเรือธง ส่วนเรื่อง ‘ทักษิณ’ ขอให้รอฟัง
วันที่ 13 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 5 พรรค นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ , กฤดิทัช แสงธนโยธิน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้า พรรคใหม่ , ชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย , กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม และ ปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ได้นำรายชื่อสมาชิกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ชัยธวัช กล่าวว่า วันนี้พวกเราพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขออภิปรายตามมูลมาตรา 152 แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเนื้อหาของญัตติ ดังนี้
เนื่องด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินมาเป็นเวลากว่าหกเดือนแล้ว แต่มิได้ดำเนินการหรือปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน ไม่จริงใจ ไม่ตั้งใจ เพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายของตนที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภา ขาดประสิทธิภาพหรือความชัดเจนแน่นอน ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย หรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
นโยบายเร่งด่วนสวนทางกับความเป็นจริง การดำเนินการของรัฐบาลตามนโยบายเร่งด่วนที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่ว่าจะการแก้ปัญหาหนี้สินในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความเห็นที่ต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศล้วนขาดยุทธศาสตร์ และการปฎิบัติที่ตรงเป้าหมาย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ยังมีพฤติกรรมที่ทำลายความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเอารัดเอาเปรียบประชาชน ระบบราชการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือเกิดการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย แทนที่จะเร่งฟื้นฟูหลักนิติรัฐนิติธรรม กลับเกิดการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ทำลายหลักความเสมอภาค เท่าเทียมทางกฎหมาย และการไม่จริงใจต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การลดความเหลื่อมล้ำ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การปฏิรูปกองทัพ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาการศึกษา และปัญหาสิ่งแวดล้อม การดำเนินการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มีความผิดพลาด ไร้ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ การดำเนินนโยบายต่างประเทศยังไม่สามารถฟื้นฟูบทบาทสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลกได้
หากปล่อยปละละเลยให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้เป้าหมาย ไร้จริยธรรม และไร้วุฒิภาวะต่อไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตามที่พี่น้องประชาชนคาดหวังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
จากสถานการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น จึงจำเป็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย จะได้นำเสนอสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะ และซักถามข้อเท็จจริงต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน
ดังนั้น ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152
สำหรับความคาดหวังต่อรัฐบาลในการอภิปรายครั้งนี้ ชัยธวัช กล่าวว่า แน่นอนเราหวังว่า จะเป็นการตรวจการบ้านครั้งสำคัญ หลังจากที่ประชาชนคาดหวังมาก ว่าเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ หลังรัฐบาลจากการยึดอำนาจพ้นจากตำแหน่งแล้ว เมื่อเราเห็นว่า 6 เดือนที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน จึงหวังว่าการอภิปรายจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาส
ชัยธวัช ยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเต็มที่และมีกำลังใจ ทั้งนี้ การอภิปรายไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณี กกต. มีมติยึดศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล แต่ยิ่งต้องตั้งใจอย่างเต็มที่มากกว่าปกติ พร้อมย้ำว่า เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลพรรคเดียว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่น พรรคก้าวไกลเองเตรียมต่อสู้ในกระบวนการทางกฎหมาย
เมื่อถามถึงประเด็นที่จะอภิปราย ชัยธวัช ตอบเพียงว่า “รอฟัง ไม่เฉลยการบ้าน”
สำหรับข้ออ้างที่รัฐบาลยังไม่ได้ใช้งบประมาณนั้น ชัยธวัช กล่าวว่า การบริหารราชการแผ่นดินไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน แน่นอนการใช้งบประมาณสำคัญซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เรายังรอเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ได้ หลังจากมีการใช้งบประมาณอย่างเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศภายใต้ เศรษฐา มีเรื่องสำคัญจำเป็นที่ต้องอภิปรายแน่นอน
ส่วนจะรวมเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ชัยธวัช ยืนยันว่า นโยบายเรือธงต่างๆ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องอภิปรายแน่นอน
ขณะที่จะรวมประเด็นของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยหรือไม่นั้น ชัยธวัช ย้ำว่า เดี๋ยวรอฟัง
ด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว จะส่งให้สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบรายชื่อและญัตติต่อไป ซึ่งคงไม่มีอะไร หลังจากนี้ จะจัดให้มีการประชุมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และตัวแทนรัฐบาล เพื่อกำหนดวันที่ชัดเจนและเวลาที่อภิปราย ซึ่งการดำเนินการจะมีเวลากำกับ คาดว่าคงดำเนินการเสร็จสิ้นภายในต้นเดือน เม.ย.
เมื่อถามว่า 3 วันในการอภิปรายเป็นเวลาเหมาะสมหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการประชุม ขึ้นอยู่กับญัตติที่อภิปราย เวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญที่สาระในการอภิปราย เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
ส่วนจะการันตีได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะมาตอบการอภิปราย วันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการ ทางรัฐบาลอยากจะใช้เวลาในช่วงต้นเดือน เม.ย. เพื่อจะอภิปรายให้เสร็จสิ้นก่อนจะปิดสมัยประชุมสภา เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลจะมาตอบอภิปรายทั่วไปของสมาชิกวุฒิสภาอยู่แล้ว วันที่ 25 มี.ค.