หน้าแรก Voice TV ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน 'ก้อง อุกฤษฏ์' หลังอุทธรณ์สั่งคุก 5 ปี 30 เดือน คดี 112

ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน 'ก้อง อุกฤษฏ์' หลังอุทธรณ์สั่งคุก 5 ปี 30 เดือน คดี 112

91
0
ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน-'ก้อง-อุกฤษฏ์'-หลังอุทธรณ์สั่งคุก-5-ปี-30-เดือน-คดี-112

ศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว ก้อง อุกฤษฏ์ หลังถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินคดี 112 ลงโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน เหตุโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 5 โพสต์

16 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน “ก้อง” อุกฤษฏ์ ในข้อหา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “John New World” รวม 5 ข้อความ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ศาลเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากให้ประกันอาจหลบหนีได้

สำหรับคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน สั่งจำคุก 5 ปี 30 เดือน จากคดี 112 เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ทั้งนี้ อุกฤษฏ์ถูกจับกุมจากห้องพักตามหมายจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน และถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปอท. โดยพบว่าคดีมี พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ เป็นผู้กล่าวหา ในตอนแรกมีการแจ้งข้อกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ โดยไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมในการสอบสวน 

ต่อมาในชั้นสอบสวน ตำรวจยังแจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมจากข้อความในเฟซบุ๊กอีก 3 ข้อความ รวมเป็น 5 ข้อความ เป็นการโพสต์ในช่วงปี 2563 และ 64 โดยมีข้อความส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับอาการประชวรของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี 

หลังจากนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 โดยในนัดสืบพยานนัดแรกเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2565 อุกฤษฏ์ได้ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 ศาลอาญาพิพากษาว่า อุกฤษฏ์มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน (หรือประมาณ 7 ปี 6 เดือน) โดยไม่รอลงอาญา หลังจากนั้นเขาถูกคุมขังที่เรือนจำอยู่ 46 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2566 และก้องได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยสรุป คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุก 5 ปี 30 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ คดีนี้มีปัญหาต้องวินิฉัยว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดโทษสมควรแล้ว และเป็นการลงโทษตามกฎหมายขั้นต่ำ จึงไม่สมควรต้องกำหนดโทษใหม่ 

ในส่วนประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสำนึกผิดแล้ว และได้มีการไปขอขมาต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลเห็นว่า จำเลยมีอายุ 23 ปีแล้ว ย่อมมีวิจารณญาณ รู้ว่าสิ่งไหนควรไม่ควร อีกทั้งจำเลยยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ย่อมมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายมากกว่าคนทั่วไป 

แม้จำเลยจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่พิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยถือเป็นเรื่องร้ายแรง การสำนึกผิดของจำเลยยังไม่สามารถบรรเทาผลเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คำอุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่