พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'สภาทนายความ' ชี้ รธน.กำหนดประธานสภาต้องเป็นกลาง ควรเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ

‘นายกสมาคมทนายความ’ กางรัฐธรรมนูญ ยันประธานสภา เป็นตำเเหน่งสำคัญ ผู้ที่ควรได้รับการเสนอชื่อควรมีความเหมาะสม ทั้งวัยวุฒิ-คุณวุฒิ-ได้รับการยอมรับ

วันที่ 30 พ.ค. นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า ตามที่สังคมไทยเกิดกรณีถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการอ้างเหตุผลที่มีลักษณะเป็นการบิดเบือนจนอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสาธารณะชน สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอเรียนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

(1) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 และ 117 สภาผู้แทนราษฎรมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาหนึ่งคนหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จากสมาชิกตามมติของสภาและดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร

(2) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาและต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การที่พรรคการเมืองบางพรรคอ้างว่าจะต้องให้คนของพรรคตนดำรงตำแหน่ง เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ จึงเป็นการบิดเบือน เพราะการบรรจุวาระการพิจารณาร่างกฎหมาย จะต้องเป็นไปตามลำดับของร่างกฎหมายที่ได้ยื่นต่อสภา ส่วนการเลื่อนวาระไม่อาจกระทำได้ยกเว้นเป็นมติของที่ประชุมสภา ประธานจึงไม่มีอำนาจบรรจุหรือเลื่อนวาระหรือใช้ดุลพินิจได้ตามใจชอบ

(3) ส่วนการประชุมเพื่อลงมติเลือกตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นการประชุมรัฐสภา นั้น สามารถเสนอชื่อได้จนกว่าจะได้รับเลือก และหากรัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงเกิน 376 เสียงให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องนำรายชื่อนั้นขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 จึงไม่อาจสลับเอารายชื่อบุคคลอื่นขึ้นทูลเกล้าได้ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอ

โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา 80 บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประเทศ อันเป็นตำแหน่งที่เป็นทั้งสัญลักษณ์และหน้าตาของประเทศ ดังนั้น ผู้ที่ควรได้รับการเสนอชื่อจึงควรมีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ รวมทั้งต้องได้รับการยอมรับทั้งจาก ส.ส. ของพรรคการเมืองอื่น และจาก ส.ว. เพราะจะต้องทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมของทุกฝ่ายมิได้เป็นเพียงประธานของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเท่านั้น การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง จึงควรคำนึงถึงการยอมรับจากทุกฝ่าย และประโยชน์สูงสุดของประเทศ

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More