พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ท้าทายโครงสร้างสังคม เปิดข้อมูลภาครัฐ ปลดล็อคอำนาจประชาชน

สถานการณ์ของสังคมในปัจจุบันที่อำนาจของประชาชนกำลังถูกท้าทายจากโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ การทุจริตคอรัปชั่น การริดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ข้อกำหนดกฎหมายที่มีช่องโหว่ ความไม่ยุติธรรม ประชาชนคนธรรมดาที่เพียงแค่ต้องการจะเรียกร้องขอคืนสิทธิที่เป็นธรรม ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

โดยเมื่อเร็วๆ นี้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “เปิดข้อมูลภาครัฐ ปลดล็อกอำนาจประชาชน” พร้อมจัดนิทรรศการ “กลางวันแสกๆ”

นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ กล่าวว่า จากประสบการณ์ตรงที่คนในครอบครัว คือ สามี นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหาย ซึ่งถือเป็นคดีแรกของประเทศไทย จากการเรียกร้องของคนธรรมดาที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงและขอคืนสิทธิที่เป็นธรรมจากการคุกคามสิทธิ ของช่องโหว่ข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก แนะให้ควรมีกฎหมายที่จะยุติการฟ้องปิดปาก

หลายคดีอุ้มหาย ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ไม่มีผู้เสียหายไปแจ้งความ เพราะผู้เสียหาย ได้หายไปแล้ว เนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ครอบครัวไม่มีสิทธิเข้าเป็นผู้เสียหาย

นางอังคณา กล่าวว่า เช่นกรณีของทายาทผู้มีอิทธิพลที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ทนายทราบว่า คดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย เพราะพ่อแม่ตายไปแล้ว ส่วนภรรยาที่อยู่ด้วยไม่ได้จดทะเบียนสมรส พี่น้องที่รับมรดกได้แต่เรียกร้องความเป็นธรรมไม่ได้ อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในบ้านเรา ยากมาก

นางอังคณา กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบเวลาเรียกร้องให้มีการเปิดเผย EIA EHIA ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ เมื่อภาครัฐจะสร้างโรงงานขนาดใหญ่ หรือเหมือง พอไปโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาท จึงอยากถามว่า การออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

พร้อมทั้งคำถามว่า ทำอย่างไร ผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิของคนอื่นหรือของตัวเองโดยรวม จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะมันเป็นการปิดปาก และคนที่ทำงานด้านนี้มักจะโดนตั้งคำถามที่ว่า ทำไมจึงไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่กลับย้ำคิดย้ำทำ พูดแต่เรื่องเดิมๆ ทำแต่เรื่องเดิมๆ

อยากจะบอกว่าสำหรับคนที่รู้สึกทนไม่ได้ คือคนที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในทุกวันๆ ตื่นขึ้นมา พร้อมถามกับตัวเองด้วยข้อความเดิมๆ ว่า คนในครอบครัวหายไปไหน

ขณะที่นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหาร Nation STORY นักข่าวผู้ที่ยื่นขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีนาฬิกายืมเพื่อน จากป.ป.ช. เมื่อปี 2561 กล่าวว่า แม้จะได้รับเอกสารแล้วแต่ข้อมูลไม่ได้มีอะไรมาก จริงๆ ความตั้งใจแรกคืออยากจะทดสอบกระบวนการของ ป.ป.ช. เพราะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของภาครัฐ เพื่อสร้างความโปร่งใส ตั้งแต่ร้องขอการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

พบปัญหาว่า หน่วยงานภาครัฐมักมีทัศนคติว่า ไม่เปิด พร้อมทั้งชวนให้คิดต่อว่า รัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ต้องร้องขอ และข้อมูลที่เปิดเผยมานั้น เมื่อได้มาแล้วจะต้องสามารถนำไปใช้ต่อได้

เรียกร้องภาครัฐเปิดเผยข้อมูลรัฐ

ด้านนายสุภอรรถ โบสุวรรณ ผู้ร่วมก่อต้้งและคณะกรรมการผู้จัดการ HAND Social Enterprise วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า อำนาจทุกอย่างไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของประชาชนทุกคน เพียงแต่เรามอบอำนาจให้ภาครัฐไปกระทำการแทนเรา

ด้วยหลักการนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อมอบอำนาจให้แล้วเมื่อนานเข้า ภาครัฐอาจจะคิดว่ากลายเป็นอำนาจของตนเอง ดังนั้นในการเปิดเผยข้อมูล จึงมีอำนาจที่เรียกว่า อำนาจในการติดตามและตรวจสอบ และประชาชนมีอำนาจในการมีชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี ถ้าเมื่อเปรียบว่าประชาชนคือผู้บริโภค และรัฐบาลคือบริษัทที่ต้องบริหารเงินภาษีของประชาชนที่ใช้ซื้อบริการของภาครัฐ

ดังนั้นภาครัฐก็ควรที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ชัดเจน และนำไปใช้งานได้ เพราะในปัจจุบันการเปิดเผยของมูลของภาครัฐนั้นมีปัญหา “ทำให้มันยาก” บันทึกเข้าคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ต้องถ่ายภาพหน้าจอ เมื่อมันยากประชาชนก็ไม่อยากซื้อ ไม่อยากมีส่วนร่วม ในวันนี้บริษัทยังไม่คิดจะปรับผู้บริโภคอย่างประชาชนก็ไม่อยากจะซื้อ ย้ายประเทศหนี ไปอยู่ที่อื่น

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะต้องเข้าถึงได้ง่าย โปร่งใส และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ ช่วยทำให้หลักนิติธรรมของประเทศนั้นดีขึ้น

โดยการเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนามาตรฐานในการเก็บข้อมูลระบบ Open Data เพื่อยกระดับให้เท่ากับสากล และการร้องเรียนนั้น จะต้องเป็นการร้องเรียนที่ปลอดภัย ไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้แจ้ง ช่องทางที่สามารถร้องเรียนได้อย่างปลอดภัย เช่น เพจต้องแฉ เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน

รวมทั้ง พ.ร.บ.ที่ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ” ชื่อของ พ.ร.บ.ทำให้เกิดชุดความคิดว่านี่เป็นข้อมูลของรัฐเท่านั้น ไม่สามารถเปิดเผยให้กับประขาชนรับรู้ได้ จึงได้มีการเสนอเปลี่ยนชื่อเป็น “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” เพื่อให้ประชาชนหรือใครก็ตามสามารถร้องเรียน และเข้าถึงข้อมูลได้และต้องเปิดเผยโดยไม่มีข้อกังขา

รายงานโดย: มินตรา มีเนตร์ และณัฐพล อรุณพิทักษ์ศักดิ์

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More