พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

คกก.นโยบายการเงิน มีมติ 5:2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งที่ 2/2567 วันที่ 10 เมษายน 2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ขณะที่กรรมการ 2 เสียงเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงมาก และแรงกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ

สำหรับปี 2567 ปัจจัยลบดังกล่าวจะทยอยลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2567 และปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ลดงหลังวิกฤตโควิด-19 สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจำกัด

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ มีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และในปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ตามการปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่ม เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจากราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More