พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ร้องผู้ว่าฯ ปิดเหมืองแร่โปแตช หลังสร้างผลกระทบนาน 8 ปี

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดชุมนุมใหญ่ถนน 201 โคราช เรียกร้องผู้ว่ามีคำสั่งปิดเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทดทันที พร้อมเปิดข้อมูลหลากผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อัดหน่วยงานรัฐไม่ทำหน้าที่จนทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ปิดเหมืองเอง ขณะที่พ่อเมืองโคราชเข้าร่วมเจรจานานกว่าหนึ่งชั่วโมงก่อนได้ 5 ข้อตกลงให้ กพร. ไม่พิจารณาอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง จนกว่าจะได้มารับฟัง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่

20 มี.ค.2567 องค์กร Protection International รายงานว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้นัดชุมนุมที่บริเวณถนน 201 นครราชสีมาเพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งปิดเหมืองโปแตชด่านขุนทดที่ส่งผลกระทบอย่างยาวนานกว่าแปดปีในพื้นที่ทันที 

โดยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้เริ่มรวมตัวกันที่วัดสระขี้ตุ่น ต.สระขี้ตุ่น อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เวลา 08.30 ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่ถนน 201 ปากทางเข้าบ้านหนองไทร บนถนนสายหลักสีคิ้ว-ชัยภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปิดเหมือง ของบริษัทไทยคาลิ จำกัด โดยปักหลักชุมนุมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา 

ทั้งนี้เหมืองดังกล่าวตั้งอยู่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา คลอบคลุมพื้นที่ไปจนถึง ต.หนองบัวตะเกียด โดยได้ประทานบัตรมาเมื่อปี 2558 จากคำสั่ง คสช. หลังการทำเหมือง ชาวบ้านพบว่ามีตาน้ำผุดเกิดขึ้นหลายจุดในหมู่บ้านและที่ดินทำกินทำให้พื้นดินชื้นแฉะ บ้านเรือนเกิดการผุกร่อนเสียหายจากความเค็ม พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ที่ดินไม่สามารถทำกินได้ บ่อน้ำสาธารณะบ้านหนองไทรได้รับความเค็ม รวมถึงแหล่งน้ำประปาก็ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ชาวบ้านต้องได้แบกรับภาระค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นเท่าตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่าชาวบ้านจะเคยไปร้องเรียนหลายครั้งแล้ว เพื่อขอให้มีการแก้ไขปัญหา

ผู้สื่อข่าวยังรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ชาวบ้านยังกังวลถึงกระบวนการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ในพื้นที่หนองบัวตะเกียบ ที่จะทำการสำรวจแร่เพิ่มเติม 3 อุโมงค์ โดยจะใช้ระเบิดในการขุดเจาะหลุมละ 500 กิโลกรัม ซึ่งการขุดเจาะอยู่ติดกับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน และการเปลี่ยนแปลงแผนผังดังกล่าว ไม่ได้ทำ EIA ใหม่ แต่กลับใช้ EIA ฉบับเดิม ที่เคยใช้ ในการขอประทานบัตรเปิดโครงการครั้งแรกที่ตำบลหนองไทร 

ปิดเหมืองทันที ผลกกระทบหนักถึงชีวิตและจิตใจและทำมาหากินไม่ได้ 

ขณะที่ตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยระหว่างที่รอผู้ว่าเดินทางมาเจรจา โดย กมล ประณีตพลกรัง ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกล่าวว่า ที่ออกมาชุมนุมในวันนี้เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และวันนี้มารอผู้ว่าฯ อยากรู้ว่าผู้ว่าจะออกมาหาชาวบ้านหรือไม่ และตอนนี้ต้องการเรียกร้องให้ปิดเหมืองทันที เนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นหนัก ทำมาหากินไม่ได้ 

พบโปแทสเซียมคลอไลด์ปนเปื้อนในดิน- น้ำ สูงกว่ามาตรฐาน แต่รัฐเพิกเฉย

ด้านจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่าวันนี้เหมืองแร่มีการโฆษณาว่าได้มีการปูผ้ายาง ทำตามมาตรการ แต่ในความเป็นจริงนั้นเหมืองเพิ่งปูผ้ายางเพื่อกันน้ำเกลือซึมเมื่อปีที่แล้ว (2566)นี่เอง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยทำ ถ้าชาวบ้านไม่เดือดร้อนก็ไม่เคยทำ ถ้าชาวบ้านไม่แจ้งอุตสาหกรรมจังหวัดก็มองไม่เห็น ว่าเหมืองมักง่ายและไม่ทำตามผลกระทบยังไงบ้าง และเรายังยืนยันว่าต้องปิดเหมืองเท่านั้น เพราะเกลือเป็นปึกแผ่นขนาดนี้ไม่มีทางเป็นเกลือธรรมชาติได้อย่างแน่นอน อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานนำดินและน้ำในพื้นที่ไปตรวจ ก็พบว่าค่าดินและน้ำที่นี่มีเกลือโปแทสเซียมคลอไลด์ปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานมาก แต่ก็ไม่เคยดูแลเราเลย ดูแลแต่เหมือง ที่สำคัญการทำเหมืองแร่ในครั้งนี้ยังไม่ได้รับอนุญาต 

นักปกป้องสิทธิฯ ติงนโยบายรัฐบาลเร่งผลักดันสร้างเหมืองโปแตช เมินผลกระทบในพื้นที่ ชี้เหมืองขุดเจาะก่อนได้รับอนุญาต

ด้านเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ปราศรัยว่าเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก่อนจะมีคำสั่ง นายกเศรษฐษฯ ได้ไปประเทศจีนมาเพื่อเชื่อมทะเลอันดามันทำอุโมงค์ขนส่งสินค้า และได้ไปเขียนแผนที่แบบมั่ว ๆ จากนั้นพอกลับมาได้ประกาศเร่งทำเหมืองทันที โดยไม่สนใจเลยว่าเหมืองแร่ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับชาวบ้าน สนใจแต่ว่าจะการสร้างเหมืองจะสร้างเม็ดเงินอย่างไรให้ประเทศ ไม่สนใจชีวิตคน ฝ่ายเหมืองเองก็ได้บอกกับชาวบ้านว่าตั้งแต่ได้ประทานบัตรมาก็ยังไม่ได้ขุดเจาะอะไร ในขณะที่เหมืองแร่แห่งนี้ได้มีการขุดเจาะเหมืองมาโดยตลอดจนเกิดผลกระทบ ซึ่งขัดกับสิ่งที่นายกฯ และเหมืองได้กล่าวไว้ ชาวบ้านที่นี่หลายคนรู้ดีเพราะชาวบ้านบางส่วนที่นี่เคยทำงานในเหมือง 

ซึ่งคำปราศรัยของเลิศศักดิ์ สอดคล้องกับคำพูดของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ผานมากรณีมีคำสั่งให้เร่งรัดการทำเหมือง โดยมี 3 บริษัทที่ได้รับสัมปทาน อาทิ บริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตช โคเปอร์เรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)​ จ.ชัยภูมิ และบริษัทไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา

ต่อมาเวลา 10.40 น. สุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เข้าร่วมเจรจากับนักปกป้องสิทธิฯกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด โดยทันทีที่รองผู้ว่ามาถึง ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้สอบถามกับผู้ว่าว่าการเข้าร่วมเจรจาในครั้งนี้รองผู้ว่ามีอำนาจในการสั่งการให้ปิดเหมืองทันทีได้เลยหรือไม่ รองผู้ว่าฯตอบว่า จังหวัดไม่มีอำนาจหรือมีคำสั่งให้ปิดเหมืองได้วันนี้จะมารับฟังเรื่องความเดือดร้อนของกลุ่มก่อน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งได้รับผลกระทบมาหลายปีเกิดความไม่พอใจและเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจในการสั่งการมาเจรจากับกลุ่มเท่านั้น 

 “บ้านเราต้องการกินข้าว ไม่อยากกินเกลือ ไม่เอาแผ่นเกลือ ไม่เอาเหมืองแร่โปแตช”

 อนุสรา ประณีตพลกรัง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้ตั้งคำถามกลับว่าก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ แล้วและผู้ว่ามีคำสั่งให้ชะลอการขุดเจาะ แต่ในความเป็นจริงบริษัททำงานอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ตัวแทนเครือข่ายฯ ยังได้บอกกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่มาลงพื้นที่กับรองผู้ว่าฯ ในวันนี้ว่า เราต้องการให้ปิดเหมืองอย่างเดียว ไม่มีข้อเสนออื่น และไม่เจรจาใดๆ บ้านเราต้องการกินข้าว ไม่อยากกินเกลือ ไม่เอาแผ่นเกลือ ไม่เอาเหมืองแร่โปแตช และอยากให้นายกฯ ลงมาดูผลกระทบในพื้นที่จริง ก่อนจะเทผลึกเกลือที่เก็บมาจากพื้นที่ออกจากกระสอบเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกับกล่าวว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็เคยเอาเกลือไปให้จังหวัดดูแล้ว แต่ทางจังหวัดเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนจะประกาศว่าถ้าผู้ว่าฯ ไม่ลงมาพื้นที่จะยกระดับการชุมนุม 

ถ้าไม่มีผลกระทบคงไม่มาชุมนุม ชี้ชีวิตชาวบ้านมีค่ากว่าแร่โปแตช

ขณะที่เดือนรุ่ง มูลขุนทด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ปราศรัยว่า กพร.บอกว่าเรามีทรัพย์สมบัติมากมหาศาล แต่ตอนนี้ ตรงนี้ ชีวิตชาวบ้านมีค่ามากกว่า อยากให้นายกฯ ลงมาดูพื้นที่บ้าง ถ้าเหมืองแร่เกิดแล้วไม่มีผลกระทบ เราคงไม่เสียเวลาทำมาหากินมานั่นคัดค้านอยู่ตรงนี้ พอต้นไม้ในเหมืองยืนต้นตาย เหมืองมักจะให้เหตุผลว่าชาวบ้านจนจึงตัดต้นไม้ไปให้ชาวบ้านเผาถ่านขาย และสิ่งที่น่าแปลกใจคือ ฝนไม่ตกแต่น้ำท่วมบ้านหนองไทร น้ำก็ใช้ไม่ได้ และวันนี้ยืนยันว่าต้องการปิดเหมืองเท่านั้น 

เล่นละครสั้นสะท้อนปัญหาเหมือง

ต่อมา เวลา 13.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้เริ่มย้ายเต้นท์มาที่กลางถนน โดยเปิดทางจราจรไว้หนึ่งเส้นทางเพื่อรอให้ผู้ว่าลงมาพื้นที่เพื่อมีคำสั่งปิดเหมือง โดยบรรยากาศภายในงานได้มีการร้องเพลงที่แต่งขึ้นเองจากชาวบ้านถึงเรื่องราวความเจ็บปวดถึงผลกระทบของเหมืองแร่โปแตช รวมถึงมีกิจกรรมอ่านกวี และวงดนตรีจากกลุ่มทะลุ มข. มาร่วมเล่นเพื่อสร้างความบันเทิง ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น และมีการเล่นละครหุ่นจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ที่สะท้อนถึงผลกระทบและบรรยากาศแตกแยกในชุมชนที่มาจากเหมือง พร้อมกับมีป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ผู้ว่าฯ เลิกลอยตัวกี่โมง” 

ผู้ว่าร่วมเจรจากับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

13.45 น. สยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าร่วมเจรจาพูดคุยกับชาวบ้านที่จุดทำกิจกรรม โดยใช้เวลาหารือชั่วโมงกว่าก่อนที่จะได้ข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด และได้เปิดเผยรายละเอียดการหารือกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องเหมืองแร่โปแตชเราทราบว่าก็ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเราก็ได้รับรู้เรื่องราวตลอดมาผ่านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดที่คอยยื่นเรื่องตลอด ซึ่งโดยส่วนตัวมีความเป็นห่วงไม่ว่าจะผลกระทบมากหรือน้อย และก่อนหน้านี้ก็เคยได้ลงพื้นที่และพบว่าหน้าดินเป็นเกลือ แต่เนื่องจากมีข้อมูลจากหลายฝ่ายจึงต้องเช็คข้อมูลจากทุกฝ่าย และแม้ว่าผู้ว่าจะย้ายไปรับหน้าที่ที่อื่น แต่เอกสารเรื่องราวผลกระทบยังคงอยู่ที่นี่ 

ขณะที่เลิศศักดิ์ กล่าวหลังเข้าไปเจรจากับผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ กพร. และตัวแทนเครือข่ายกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด โดยได้สรุปเนื้อหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐกำลังประชุมหารือกันเพื่อหาทางออก สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานราชการที่มาในวันนี้ยังไม่เข้าใจชาวบ้าน ไม่เข้าใจข้อเรียกร้องของเราในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจทั้งที่ชาวบ้านเรียกร้องเรื่องนี้มาตลอด และโดยตำแหน่งหน้าที่ของผู้ว่าฯ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงหลายอย่าง ดังนั้น หากผู้ว่าฯ เพิกเฉยต่อปัญหาเท่ากับว่ากำลังละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และชาวบ้านรู้มาตลอดว่ากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเป็นตัวต้นเรื่องในการเดินเรื่องเพื่อคัดค้านเหมืองแร่มาตลอด แต่ผู้ว่าฯ กลับไปฟังแค่เสียงของชาวบ้านที่เอากับเหมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เป็นความจงใจที่จะไม่รับฟังเสียงของชาวบ้านที่คัดค้านเหมือง

เปิดบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างผู้ว่าและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดมีดังนี้

  1. ขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ( กพร.) ไม่พิจารณาอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง จนกว่าจะได้มารับฟังข้อเรียกร้อง ความห่วงใย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด
  2. แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการอุโมงค์เดิม และสภาพที่เกิดจากการทำเหมืองเดิม ให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี ทั้งมิติของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต 
  3. การดำเนินการของ กพร.ต่อเรื่องนี้ที่ผ่านมา ทางกลุ่มยังไม่มีโอกาสให้ความเห็น ดังนั้น จึงขอให้ทางกลุ่มได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและให้ทางกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญที่ กพร.ใช้ในการพิจารณา
  4. ให้ผู้ว่าฯ เจรจากับทางบริษัท ยับยั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผังก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากทาง กพร. (ดอนหนองโพธิ์) 
  5. ผู้ว่าฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ข่มขู่ คุกคาม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

แถลงการณ์หมืองโปแตชที่เหยียบ-หยามความเป็นมนุษย์ จะแปรเปลี่ยนความเกลียดชังและความคับแค้นให้เป็นพลังปิดเหมืองให้จงได้

ต่อมาในเวลา 16.00 น. นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์โดยมีรายละเอียดในแถลงการณ์ดังนี้

5 ปีเต็ม (ตั้งแต่ปี 2559 – 2563) ที่เหมืองโปแตชไทยกาลีทำการขุดเจาะอุโมงค์แนวลาดเอียง จนทำให้น้ำเค็มปริมาณมหาศาลรั่วทะลักขังอยู่ในอุโมงค์ จึงได้สูบน้ำเค็มเหล่านั้นขึ้นมา แล้วเอามาทิ้งลงสู่หนองมะค่าใน หนองมะค่านอก ลานดินและบ่อน้ำสองแห่งของวัด ไร่นาของชาวบ้านหลายร้อยราย ซึ่งปลายทางของน้ำเค็มใต้ดินก็ไหลลงสู่ที่ต่ำของลุ่มน้ำไปรวมกันที่ลำมะหลอด ส่งผลกระทบให้ผืนแผ่นดิน แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ อากาศรอบตัว ของพี่น้องหลายหมู่บ้านในหลายตำบลของอำเภอด่านขุนทดต้องถูกปนเปื้อนความเค็มอย่างรุนแรง จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 

จากผืนแผ่นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ปลูกข้าวงอกงามได้ผลผลิตดี บัดนี้ต้องสูญสิ้น มีแต่เกลือที่งอกขึ้นมาแทนต้นข้าว ในน้ำก็มีแต่ความเค็มที่เค็มกว่าน้ำทะเลสองเท่า จนทำให้กุ้งหอยปูปลาตายเกลี้ยง ส่วนในอากาศก็กลายเป็นอากาศที่เหนียวเหนอะหนะร่างกายเหมือนกับอยู่ชายทะเล

8 ปีเต็ม (ตั้งแต่ปี 2559 – 2566) ที่บ่อกักเก็บน้ำของเหมืองที่เอาน้ำเค็มใต้ดินจากการขุดเจาะอุโมงค์แนวลาดเอียงมาพักไว้ ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ไร่นาสาโททั้งหลายตามที่กล่าวมา โดยไม่ได้ปูแผ่นพลาสติคทนความเค็ม ซึ่งเหมืองได้ทำการปูแผ่นพลาสติคบ่อกักเก็บน้ำดังกล่าวเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง

เป็นแปดปีเต็มที่พวกเราถูกเหยียบ-หยามความเป็นมนุษย์เสียจนไม่เหลือศักดิ์ศรีใด ๆ เหมืองเช่นนี้หรือที่โฆษณาชวนเชื่อต่อสาธารณชน เอาเงินยัดปากข้าราชการ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ และผู้ว่าฯ ว่า “ขอแก้ตัวใหม่ โดยจะขอทำเหมืองอย่างมีสำนึกและความรับผิดชอบ ที่เคยทำผิดพลาดไปแล้วก็ขอให้ลืมมันไป”

เราจะลืมมันได้อย่างไร เมื่อมันไม่เคยมองเห็นว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจเรา เป็นเพียงแค่สัตว์และผักปลาชั้นต่ำที่ไร้ค่าในจานข้าวของมัน

เราจะปล่อยให้อดีตที่มันได้กระทำย่ำยีชีวิตจิตใจเราตลอดแปดปีเต็มเป็นเพียงแค่ฝุ่นผงในสายลมที่พัดผ่านไป เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยเช่นนั้นหรือ

มันบอกว่าการกระทำอันเลวทรามต่ำช้าที่ผ่านมาของมันก็ขอให้แล้วกันไป โดยจะขอเริ่มต้นใหม่ด้วยการขอขุดอุโมงค์เส้นใหม่ที่ดอนหนองโพ ทั้ง ๆ ที่หากมันต้องการทำเหมืองอย่างมีสำนึกและความรับผิดชอบ มันต้องกลับไปแก้ไขปัญหาน้ำเค็มใต้ดินท่วมทะลักขังอยู่ในปริมาณมหาศาลในอุโมงค์แนวลาดเอียงที่หนองไทร

ในเมื่อมันไม่กลับไปแก้ไขความเลวทรามต่ำช้าที่มันทำไว้กับพี่น้องหนองไทร มันจึงมีเหตุผลอันชอบธรรมที่เหมืองแห่งนี้จะต้องปิดตัวลง

ขอให้พี่น้องจงเชื่อมั่น เราจะก้าวไปทีละก้าวเพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางนั้น เหมืองโปแตชที่เหยียบ-หยามความเป็นมนุษย์ของพวกเรา มันได้บ่มเพาะความเกลียดชังและความคับแค้นในร่างกายและจิตใจเรา ซึ่งมันจะแปรเปลี่ยนความเกลียดชังและความคับแค้นนั้นให้เป็นพลังปิดเหมืองให้จงได้ในเร็ววัน 

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More