พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'ณัฐวุฒิ' มอง 'ทักษิณ' เป็นคนระดับโลก หากสังคมไม่เอาความสามารถมาใช้ ก็น่าเสียดาย

‘ณัฐวุฒิ’ มอง ‘ทักษิณ’ เป็นคนระดับโลก หากสังคมไม่เอาความสามารถมาใช้ ก็น่าเสียดาย แต่เวลานี้เร็วเกินจะวิเคราะห์บทบาททางการเมือง ปัดเชิญมาร้าน ‘เยี่ยมใต้’ ยังไม่ได้คุยกัน

วันที่ 14 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. และเจ้าของร้านอาหาร ‘เยี่ยมใต้’ เผยว่า ยังไม่ได้มีการติดต่อพูดคุยใดๆ กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากกลับประเทศไทย พร้อมมองการเดินทางไป จ.เชียงใหม่ ของ ทักษิณ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการทวงคืนพื้นที่ทางการเมือง โดยระบุว่า ตนไม่ได้มองว่าเป็นสงครามแย่งชิงพื้นที่

“ถ้าผมพลัดที่นาคาที่อยู่ไป 20 กว่าปี ที่แรกที่ผมไปก็จะเป็น จ.นครศรีธรรมราช เหมือนกัน ผมเห็นนายกฯ ทักษิณมีโปรแกรมจะไปไหว้สักการะครูบาศรีวิชัย ที่พระธาตุดอยสุเทพ ผมก็เหมือนกัน ถ้าผมกลับ จ.นครศรีธรรมราช ผมก็ไปกราบพระบรมธาตุเจดีย์”

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันแบบนี้คงเร็วเกินไปที่จะมาวิเคราะห์หรือตีความกันทางการเมือง ต้องดูว่าบทบาทหลังจากนี้ของนายกฯ ทักษิณ หลังจากที่ท่านสามารถเคลื่อนไหวโดยอิสระ พ้นจากเงื่อนไขต่างๆ แล้วจะเป็นอย่างไร นั่นแหละถึงจะ ดูเป็นมิติการเมืองได้มากกว่าและชัดกว่า

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ ทักษิณ จะกลับมามีบทบาททางการเมืองหลังจากพ้นโทษ ณัฐวุฒิ กล่าวว่า “ผมว่าท่านเป็นคนการเมือง แน่นอนการที่ท่านกลับมาคราวนี้ ในวัย 75 ปี ท่านอาจจะทำหน้าที่คุณตา คุณปู่ ผมว่านี่เป็นความจริงในใจแน่ๆ แต่ว่าช่วงเวลาอื่นๆ จะให้ท่านนายกฯ ทักษิณ วางมือจากการเมืองเสียเลย คิดว่าโดยธรรมชาติของตัวท่านคงไม่เป็นแบบนั้น ทีนี้ในทัศนะส่วนตัว บทบาทของท่านจะเป็นอย่างไร คนเห็นด้วยเห็นต่างวิจารณ์ได้”

“กองเชียร์เขาก็ต้อนรับ กองไม่เชียร์เขาก็ตั้งคำถาม นี่เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครมีข้อยกเว้น แต่ว่าความเป็นนายกฯ ทักษิณสำหรับผม เป็นคนระดับโลก ใดๆก็ตาม สังคมไทยควรจะหาวิธีการดึงเอาศักยภาพของท่านมาใช้ ผมว่าในเวทีนานาชาติ นายกทักษิณน่าจะเป็นคนไทย ที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์ มีศักยภาพ มีต้นทุนทางความเชื่อถือ เชื่อมั่น การคบหากับคนสำคัญๆ ทั้งในแวดวงการเมือง ธุรกิจ หรือสังคมมาก และวันนี้ประเทศไทยต้องการศักยภาพแบบนี้”

ณัฐวุฒิ ระบุว่า ตนไม่ได้กำลังบอกว่าต้องให้นายกฯ ทักษิณเข้ามามีตำแหน่ง เข้ามามีบทบาท แต่ว่าจะปล่อยให้ศักยภาพแบบนี้ หายไปเฉยๆ โดยไม่เอามาช่วยบ้านช่วยเมือง ก็มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่พูดแบบนี้ก็เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า จะมาสร้างกระแส ปลุกอารมณ์ทางการเมือง ไม่ใช่เลย

“ผมพูดภาษาซื่อของผมนี่แหละ คือถ้าไม่คิดใช้นายกฯ ทักษิณให้เป็นประโยชน์ ผมว่าขาดทุนนะครับ” ณัฐวุฒิ กล่าว

เมื่อถามว่าจะเชิญ ทักษิณ มาที่ร้านอาหาร เยี่ยมใต้ หรือไม่ ณัฐวุฒิ หัวเราะ พร้อมกล่าวว่า “ไม่ทราบ ไม่ได้คุย ไม่ได้ติดต่อกับท่านเลยครับ”

ยันนิรโทษกรรมคดีการเมือง ไม่ควรปล่อยมือใคร

ณัฐวุฒิ กล่าวก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีความคาดหวังอย่างไรบ้าง

โดยระบุว่า เรื่องนี้ตนได้แสดงความเห็นไปหลายครั้งแล้ว เพียงแต่วันนี้ที่มาร่วมในเวทีนี้ เพราะทาง นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาข้อมูลและสถิติคดีความผิด อันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ได้ประสานไปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูล และความคิดเห็นจากกลุ่มมวลชนที่เคยเคลื่อนไหวในสถานการณ์ต่อสู้ที่ผ่านมา ซึ่งคนเสื้อแดงก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ตนก็ตอบรับ และได้รับทราบอีกครั้งว่า กมธ.ชุดใหญ่ ประสงค์ที่จะให้เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมวงใหญ่ในคราวเดียวกัน จึงตอบรับเข้าร่วม และเป็นครั้งแรกที่ตนได้มาอาคารรัฐสภา ในการประชุมอย่างเป็นทางการ 

ณัฐวุฒิ กล่าวย้ำถึงหลักคิดและจุดยืนต่อประเด็นนิรโทษกรรมที่ยังเหมือนเดิม ว่าความเคลื่อนไหวอันเกิดขึ้นจากกลุ่มมวลชนต่างๆ ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ตนเชื่อและยอมรับว่า ทางคนเสื้อแดงและกลุ่มมวลชน แม้จะเห็นต่าง แต่ล้วนมีแรงจูงใจทางการเมือง ตามหลักการ เหตุผล หรือข้อเท็จจริงจากที่ตัวเองสัมผัส และยอมรับ 

ดังนั้น หากคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ หรือสภาฯ ชุดนี้ ประสงค์ที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาคลี่คลายลง และหาข้อยุติร่วมกัน ที่จะตั้งต้นกันใหม่ เดินหน้านำพาบ้านเมืองไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายที่แม้จะเห็นต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้ ตนคิดว่า การนิรโทษกรรมควรหมายรวมถึงทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกคดีความ ทุกข้อกล่าวหา ในที่นี้ ตนก็เสนอให้มีการยกเว้นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น และคดีความที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งตนได้แสดงจุดยืนนี้มาตลอด

“ก็พูดกันให้ชัดไปเลย ว่าประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างอยู่ในคณะกรรมาธิการฯ คือข้อกล่าวหาอันเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนตัวผมเห็นว่า เงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศเป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วง 20 ปีที่สู้กันมา ดังนั้น หากอยากคลี่คลายความขัดแย้ง ก็ควรจะขยายพื้นที่ของการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงความผิด หรือข้อกล่าวหาในมาตราดังกล่าวด้วย”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตนไม่ได้หมายความว่า ตนจะสนับสนุนให้ใครทำอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย แต่ประเด็นของตนคือ กลุ่มบุคคลจำนวนมากที่ต้องคดีความดังกล่าวอยู่นั้น เป็นเยาวชน คนหนุ่มสาว ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาและเธอเหล่านั้น ต่างต้องเติบโตเป็นอนาคตของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม หากต้องมีการนิรโทษกรรมคดีความที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอื่นๆ และยังคงงดเว้นข้อกล่าวหาในมาตราดังกล่าวไว้เพียงลำพัง ก็จะกลายเป็นว่า สังคมนี้กำลังมีคู่ขัดแย้งคนเดียวคือ คนหนุ่มสาว และผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตนเห็นว่า จะไม่ส่งผลดี ต่อบุคคล องค์กร หรือสถาบันใดเลย ที่ตนตั้งใจมาวันนี้ เพื่อที่จะนำข้อเสนอนี้ ส่งต่อไปยังคณะกรรมมาธิการฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อที่จะได้นำไปพิจารณาและหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป 

ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ในสังคมไทยที่เราสู้กันมา มันถึงเวลาที่จะให้ทุกฝ่ายตั้งหลัก และยุติ เพื่อเริ่มต้นกันใหม่ได้แล้ว แน่นอนว่า การนิรโทษกรรมคงไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหายไปทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทุกฝ่ายต้องเปิดใจให้กันจริงๆ มันถึงจะบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง การที่สังคมเราจะจากความขัดแย้ง ไม่ได้อยู่ที่คุณยอมรับผม หรือผมยอมรับคุณ แต่ต้องอยู่ที่เราต่างยอมรับกันและกัน 

“เราต้องยอมรับว่า ในสังคมที่เรามีอายุต่างกัน เราเชื่อไม่เหมือนกัน เราสนับสนุนแนวทางทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่เราไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่คนมุ่งร้าย ทำลายบ้านเมือง ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอาชญากร หรือเป็นผู้ร้ายชนิดที่อยู่ร่วมกันในสังคมไม่ได้ ผมปรารถนาที่จะเห็นสิ่งนั้น และไม่อยากให้ใคร หรือใช้วิธีคิดแบบไหนไปบอกว่า คนหนุ่มคนสาวอีกเป็นจำนวนมากกว่าพันคนเป็นอาชญากร หรือเป็นคนที่สังคมไม่สามารถให้โอกาสได้” ณัฐวุฒิ กล่าวว่า

ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า อดีตที่ผ่านมา สังคมไทยเราเห็นมาหลายเหตุการณ์แล้วว่า บุคคลที่เคยมีความคิดเห็นไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างกับรัฐในทางการเมือง เขาเหล่านั้น ก็เติบโตมาเป็นบุคลากรคุณภาพของประเทศและสังคม และมีการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ของสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ตนคิดว่าถ้าจะจับมือกันทุกฝ่าย เราต้องไม่ยอมปล่อยมือใครเลย จับมือเด็กไปด้วย จับมือคนหนุ่มคนสาวในยุคปัจจุบันไปด้วย แม้ว่าบางเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตนก็พูดคำว่าเห็นด้วยไม่ได้เหมือนกัน แต่สังคมนี้จะมีที่อยู่กับทุกคน ก็ต่อเมื่อสังคมเปิดหัวใจให้กว้างพอ

เมื่อถามว่า หากจะผลักดันการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 อาจกระทบต่อฝ่ายที่ไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าว จนทำให้การมีกรรมไม่สำเร็จเหมือนในอดีตหรือไม่ ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขอความกรุณาอย่าให้เกิดความคิดเช่นนั้นเลย นี่เป็นขั้นตอนของการปรึกษาหารือกัน ขึ้นชื่อว่าการหารือเรื่องความขัดแย้ง คนคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว 

“เอาว่าตั้งเสาเข็มความคิดให้ตรงกันซะก่อนว่า จะต้องช่วยกันทำให้เรื่องนี้เดินหน้าไปให้ได้ เพราะความคิดแบบตนก็เป็นความคิดเห็นหนึ่ง อาจจะมีความคิดเห็นอื่นๆ และจบที่ข้อสรุปร่วมกันว่า ต้องมีเงื่อนไข มีหลักเกณฑ์ มีกระบวนการ ในการพิจารณาในแต่ละเรื่อง เพื่อให้บรรลุตามสิ่งที่เราเสนอกันไป ก็อาจเป็นไปได้ สิ่งที่ผมเสนอไม่ได้คาดคั้นว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามนี้ ผมยืนยันว่า เป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่ง และจะนำข้อเสนอนี้ไปจนสุดทางเช่นเดียวกัน”

ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า คดีความของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจเข้าข่ายคดีทางการเมือง เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง ภายหลังการรัฐประหารนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นเรื่องข้อกฎหมาย และมีข้อกล่าวหาจากการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าตนจะบอกว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับการเมืองแน่ๆ ก็กลายเป็นว่า ตนพยามที่จะตีไพ่ให้กัน ถ้าตนจะบอกว่า อย่างไรก็ไม่ใช่การเมือง ก็กลายเป็นว่า ตนจะมาสกัดขัดขวางใดๆ กันอีก ดังนั้น ตนคิดว่าให้เป็นเรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องเขาพิจารณากัน ส่วนตนเสนอในเรื่องกลุ่มก้อนเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็คิดว่าต้องให้ฝ่ายที่เขาทำงานกันอยู่ เป็นคนพิจารณา

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More